Last updated: 12 มี.ค. 2561 | 2082 จำนวนผู้เข้าชม |
ผ่านมาเป็นเวลานับพันล้านปีที่ยีนส์ของสิ่งมีชีวิตพัฒนาตัวเองให้สามารถเอาตัวรอดจากการแข่งขันและทำลายล้างกันเอง มีทั้งผู้แพ้และชนะ บ้างสูญพันธุ์ไป แนวโน้มอีกไม่เกิน 100 ปีต่อจากนี้ เราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่วิวัฒนาการดำรงสายพันธ์ของมนุษย์เริ่มจะล้าหลังเทียบเคียงไม่ได้กับ “สิ่งประดิษฐ์” ที่มนุษย์เองพัฒนาขึ้นมาเป็นทายาทของเรา และนี่เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติที่ต้องประจันหน้ากับสถานการณ์สูญพันธุ์เพราะกลายเป็น “สายพันธุ์ด้อย” แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมามนุษย์จะเป็นผู้ชนะมาโดยตลอดก็ตาม ทายาทสมองกลที่เป็น “สายพันธุ์เด่น” เหล่านี้จะสืบทอดความสามารถทางกายและปัญญาของมนุษย์ต่อไปหลังจากร่างกายมนุษย์เกิดการเสียสมดุล “จิตชีวะ”ทางธรรมชาติของการดำรงอยู่และต้องแยกทางกันไประหว่าง “จิต” และ “รูปกาย” ผู้ที่สนใจเรื่องการกลับชาติมาเกิด คงมีโอกาสรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมในกรณีที่จิตเดิมได้เวียนกลับมาเกิดใหม่และได้พบกับทายาทที่มีฐานปัญญามาจากจิตดวงเดียวกัน สาระการสื่อสารโต้ตอบระหว่าง “จิตเดิม” และ “จิตเทียม” จึงเป็นเรื่องที่ชวนติดตามและน่าศึกษาอย่างยิ่ง
ปัญญาประดิษฐ์ในสมองกลอัจฉริยะเพิ่งเตาะแตะเริ่มต้นมาเพียงแค่ 30 ปี จึงยังไม่มีผู้รู้จริงสักคนเดียวเลยว่า “จินตนาการ” ข้างต้นจะเป็นจริงหรือไม่? แล้วจะลงเอยอย่างไร? หรือยังคงมีเรื่องที่เกินจินตนาการกว่าที่สมองมนุษย์ในปัจจุบันจะคิดไปถึงได้ ผมขออนุญาตเก็บประเด็นชวนขบคิดเหล่านี้ในลักษณะนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) ผสมผสานพุทธธรรม: “จิตประดิษฐ์-จิตประภัสสร” ไว้หารือกันเมื่อโอกาสจะอำนวย ก่อนที่ผมจะอำลาโลกนี้ไป
ผมเห็นว่าจินตนาการที่ใกล้ความเป็นจริงมีความสำคัญมากในวันนี้ วันที่ประเทศไทยจักต้องก้าวขึ้นขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้ทัน ซึ่งเราต้องเริ่มจากรากฐานข้อมูลที่มาจากวิทยาการความรู้และการใช้งานจริงในปัจจุบัน (State of The Art and Practice) และเราก็ได้ประจักษ์ว่า สมองคนได้นำสู่สมองกลอัจฉริยะ แล้ว หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์กำลังค่อยๆปรากฏตัวขึ้นมาในชีวิตประจำวันของพวกเรา ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ก็ตาม ภาคตลาดเงิน ตลาดทุน อุตสาหกรรม real sectors และแม้แต่ภาคบริการ
เมื่อผสมผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (machine learning) ไอที เทเลคอม กับ emerging technology : internet of things big data/analytics techniques and cloud ทำให้เกิด การ disruption อย่างมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จนคนในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นไทย คงจะมึนงง ไม่น้อยทีเดียว
ผมคิดว่า fundamental/principle และ fact จากทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้เราจับทิศทางและนัยยะการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างมีความรู้จริง มิใช่แต่เพียงมีความเห็นจากการปรุงแต่งหรือดูมาจากภาพยนต์ เราต้องเตรียม เยาวเรศ (young generation) ของไทยให้พร้อมสำหรับเทคโนโลยีเหล่านี้ครับ
ชิต เหล่าวัฒนา
Midnight of 6/1/2018
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=515073645537552&id=515057455539171
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561