ถอดรหัส Mark Zuckerberg

Last updated: 20 ก.ย. 2560  |  652 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มารู้จักตัวตนของนักธุรกิจอันดับ 1 ของโลก ในยุค Digital Transformation ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ในโลกปัจจุบันอย่างรุนแรง หนึ่งใน Disruptive Technology หรือ Diisruptive Innovation ที่มีผลกระทบป่วนปั่นและทำลายต่อธุรกิจดั้งเดิม ในทุกสาขา ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากพันธนาการที่ถูกครอบงำจากสื่อหลักและอื่นๆอีกมากมาย...

ถอดรหัส Mark Zuckerberg : นักสร้างแบรนด์ vs. นักธุรกิจ


ตอนที่ 1


ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า นี่ไม่ใช่บทความที่เอาคำพูดของ Mark ในงานรับปริญญาที่ Harvard แต่เป็นการวิเคราะห์สิ่งที่ Mark พูด กับสิ่งที่ Mark ทำ และที่สำคัญที่สุด สิ่งที่เราสามารถถอดจากเขาออกเป็นวิธีคิดที่“เลียนแบบได้”

--------------------------------------------------


สิ่งที่ทั่วทั้งโลกคงได้รับรู้ตรงกัน คือ Mark ได้ทำให้แบรนด์ Facebook กลายเป็นแบรนด์ที่ยืนอยู่เพื่ออะไรบางอย่าง (Stand for something) แทนที่จะเป็นแบรนด์ที่อยู่เพื่อเงิน (Stand for money) ตามแนวทางปกติของโลกธุรกิจ ซึ่งด้วยแนวคิด Values before Market Values ทำให้การอยู่เพื่ออะไรบางอย่างสร้างรายได้มหาศาลให้กับ Facebook โดยปริยาย


ใช่แล้วครับ สิ่งที่ทำให้แบรนด์กับธุรกิจแตกต่างกัน คือ ธุรกิจนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียว คือ สร้างรายได้ (และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร มันจะเป็นส่วนหนึ่งของการได้มาซึ่งรายได้) แต่แบรนด์นั้น เป้าหมายอาจจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก


ไม่ได้หมายความว่าการสร้างแบรนด์ ไม่สนใจรายได้นะครับ แต่หมายความว่ารายได้เป็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่านั่นมาก ลองไปดูว่า Mark บอกอะไรกับเราบ้าง และอะไรที่ซ่อนอยู่ในความแตกต่างระหว่างแบรนด์กับธุรกิจ


1. Finding purpose is not enough. Creating the world where everyone has a sense of purpose. Purpose is that the sense that we are part of something bigger than ourselves.

ข้อนี้ตอบเรื่องของยุค 4.0 ที่มนุษย์แสวงหา Self Actualisation ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่การที่เราไปถึงเป้าหมาย แต่เป็นการช่วยให้ผู้คนไปถึงเป้าหมายของพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาวะที่การทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ทั้งหมดนั้นเป็นบทบาทสำคัญของแบรนด์ที่คุณค่ามาก่อนมูลค่า และต้องเป็นคุณค่าที่มีร่วมกัน ความร่วมมือจึงจะเกิดขึ้น


2. A change in the world that seems so clear. you are sure someone else will do it. But they wont, you will

ข้อนี้สำคัญมากครับ มันเหมือนพวกเราทุกคนรู้ดีว่าปัจจุบัน อะไรคือ ปัญหาหรือสิ่งที่โลกต้องการ (โดยไม่ต้องไปนั่งทำ Market Research ให้มันวุ่นวาย) และเราก็ได้แต่หวังว่าจะมีใครซักคน เมื่อทุกคนเอาแต่รอ ปัญหาเหล่านั้นมันก็ยังอยู่ต่อไป จนกระทั่งเราตกผลึกว่า เราเนี่ยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา


หัวใจของข้อนี้ คือ ถ้าคุณทำธุรกิจ การแก้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นเรื่องใหญ่ ยาก และไม่คุ้มค่า คุณจะเลิกทำมันไปในท้ายที่สุด แต่ถ้าคุณสร้างแบรนด์ คุณจะอดทนรอคอยความสำเร็จ คุณจะจดจ่อ และที่สำคัญคุณจะไม่ล้มเลิกก่อนที่คุณจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว เพราะคุณรู้ดีว่าคุณเริ่มทำไม


3. My hope was never to build a company, but to make an impact

ในบรรดาทั้งหมด ผมชอบประโยคนี้ที่สุด เพราะมันสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า Mark กำลังสร้างแบรนด์ Facebook เค้าไม่ได้ตั้งต้นมันด้วยคำถามที่ว่า ทำธุรกิจอะไรดี เค้าเพียงแค่ต้องการเชื่อมโยงผู้คน ธุรกิจเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เขาทำสำเร็จ มันแตกต่างกันมากนะครับผู้สร้างแบรนด์ขึ้นมากับผู้ที่หาประโยชน์จากมัน เมื่อคุณค่าชัดเจน มันจะดึงดูดสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จทุกอย่างตามมาเอง


4. Some big companies wanted to buy us. I didn’t want to sell. I wanted to see if we could connect more people.

ผมอยากฝากข้อนี้ของ Mark ไปยังธุรกิจ Start up ทุกราย จริงอยู่ การได้มาซึ่งเงินคือ ส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ แต่มันไม่ได้สำคัญเท่ากับเป้าหมายว่าคุณทำมันทำไม ถ้าเงินไม่ได้ช่วยให้คุณไปถึงจุดนั้น การขายย่อมไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ผมเชื่อว่ามันถูกมาตลอดคือ เป้าหมายต้องสลักไว้บนหินผา ส่วนวิธีการเขียนไว้บนผืนทราย เขียนใหม่ได้ เปลี่ยนใหม่ได้ หากมันยังคงถูกทิศถูกทาง


ตลอดสองข้างทางในการทำธุรกิจ เงินคือสิ่งที่ทำให้เราสุข และเงินคือสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ในเวลาเดียวกัน การทำธุรกิจเงินเปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่น มันทำให้ทุกอย่างดูง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราสำเร็จ เป้าหมายที่ชัดเจนและมี Focus ต่างหากที่ช่วยเรา


5. That was my hardest time leading Facebook (where everyone else wanted to sell the company). I believed in what we were doing, but I felt lonely.

นี่คือ อีกสิ่งหนึ่งที่ปริญญาเอกด้านบริหารธุรกิจอาจไม่ได้ทำให้คุณสัมผัสมันอย่างลึกซึ้งจนกว่าคุณจะทำเอง ความสำเร็จในธุรกิจบ่อยครั้งวัดกันที่คุณจะบริหารจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไรตลอดทาง เมื่อคนรอบข้างบอกว่าเงิน คือ เป้าหมายทางธุรกิจ ในขณะที่คุณบอกว่า ธุรกิจคือ เครื่องมือไปสู่เป้าหมายต่างหาก


มันไม่ใช่แค่การทำให้ผู้คนรอบข้างเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมกับเรา แต่มันคือการอยู่ร่วมกับคนที่ไม่เข้าใจให้ได้ จิตใจเราต้องแข็งแรงมากพอ จนกระทั่งวันหนึ่งเราประสบความสำเร็จให้เค้าเห็น ความเชื่อจึงจะเกิด


6. Three ways to create a world where everyone has a sense of purpose: by taking on the big meaningful projects together, by redefining equality and by building community across the world

ทั้งหมดที่ Mark กล่าวถึงไม่ได้มีเรื่องผลลัพท์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะเป้าหมายทางธุรกิจเป็นเป้าหมายส่วนบุคคล เป็นเป้าหมายของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น แต่สิ่งที่ Mark พูดถึงคือ สิ่งที่สังคมต้องการ มันมีรายละเอียดอีกมากในสิ่งที่เขาทำ แต่มันตั้งอยู่บน Purpose ชัดเจน ไม่ใช่ Profit ทุนนิยมเป็นแค่ตัวกลางในการทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้น


“คุณค่านิยม” ต่างหาก คือ เป้าหมายที่เรามีร่วมกัน


7. Every generation has its defining works

อันนี้แหละ คือ สิ่งที่ทำให้โลกยุค 1.0 2.0 3.0 และ 4.0 แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าเราจะยังคงอยู่บนโลกใบเดิม แต่ภารกิจนั้นได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา หากเปรียบเทียบตามหลักของ Maslow เราเคยดำรงอยู่เพียงเพื่อมีปัจจัย 4 ต่อมาเราเรียกร้องหาความมั่นคงและปลอดภัย สู่การเป็นที่รักของคนรอบข้าง และประสบความสำเร็จในแบบที่สังคมขีดเส้นไว้


วันนี้เราก้าวสู่ยุคที่ เราออกแบบความสำเร็จของเราเอง และมุ่งมั่นไปให้ถึงตรงนั้นด้วยตัวเอง ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราเลือก


ตรงตามโจทย์ของ Mark ที่กล่าวโดยสรุปว่า การประสบความสำเร็จ ไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับการช่วยเหลือให้ผู้คนประสบความสำเร็จ


8. Let me tell you a secret: no one does (know how to build things) when they begin. Ideas don’t come out fully formed. They only become clear as you work on them. You just have to get started.

ผมขอใช้ประโยคนี้มาเสริมความคิดของ Mark “ถ้าเราไม่เคยสร้างบ้าน เราจะไม่มีทางเข้าใจว่าบ้านที่สมบูรณ์แบบเป็นอย่างไร” การมีความรู้การเข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นเสมือนภูมิคุ้มกัน ช่วยให้เราประคองตัวเองไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ความลำบาก หรือความล้มเหลวได้ บ่อยครั้งสิ่งเหล่านั้นเป็นธรรมชาติของความสำเร็จด้วยซ้ำ ดังนั้น เราต้องหาจุดที่พอดีกับตัวเอง รอให้รู้ครบ ก็ไม่ได้ทำ ไม่รู้เลย ทำไปก็มีแต่ปัญหา ขาดภูมิคุ้มัน ในที่สุดก็เลิก


สำคัญ คือ เมื่อได้รู้ ต้องได้เริ่ม


9. If I had to understand everything about connecting people before I began. I never would have started Facebook.

ประโยคนี้ช่วยเติมเต็มความเชื่อด้านบนของ Mark และมันเป็นข้อสรุปที่ว่า ไม่มีอะไรเกิดมาแล้วใหญ่เลย มันเกิดจากอะไรที่เล็กและสะสมได้แค่นั้น นี่คือ หัวใจของการสร้างแบรนด์และการทำธุรกิจในปัจจุบัน ถ้าไม่เรื่มเล็ก ถ้าสะสมผู้คนไม่ได้ ก็ไม่มีทางใหญ่และไม่มีวันใหญ่


10. Its good to be idealistic. But be prepared to be misunderstood.

ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนมากที่ขำกับสิ่งที่ Mark ทำเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะอะไร เพราะไม่มีใครเคยเห็นหน่ะสิ แล้วทำไมถึงไม่มีใครเคยเห็น เพราะมันยังไม่เกิด แล้วทำไมมันถึงยังไม่เกิด เพราะยังไม่มีคนทำได้หน่ะสิ สำหรับนักสร้างแบรนด์หรือคนทำธุรกิจ คุณควรจะต้องดีใจกับสิ่งนี้นะครับ เพราะมันหมายถึงโอกาสที่เปิดกว้าง


เมื่อก่อนเคยมีคนถามผมว่า อ้าว แบบนี้ถ้าเราผลิตของที่ไม่มีคนอยากได้หล่ะ จะทำยังไง คำถามนี้ดู make sense นะครับ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครผลิตสิ่งที่ไม่มีใครอยากได้ออกมาหรอก มันอาจจะดูตลกสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันจะมีค่าสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น การทำอะไรก็ตามถ้าคุณดูส่ิงที่คนอื่นทำแล้วทำตาม มันจะปลอดภัย แต่มันจะไม่ไปไกลเท่าที่คิด


แต่ถ้าคุณสร้างบางอย่างขึ้นมา มันจะมีความเสี่ยง เสี่ยงต่อการไม่เข้าใจ เสี่ยงต่อการไม่เห็นด้วย เสี่ยงต่อการไม่ง่าย แต่ถ้าคุณไม่ล้มเลิก คุณจะไม่มีทางล้มเหลวครับ


อยากให้ทุกคนได้อ่านและได้คิดตามนะครับ ไม่มีอะไรถูกและไม่มีอะไรผิด มันคือสิ่งที่เราเลือกที่จะเชื่อ และเลือกที่จะเป็น เพราะท้ายที่สุด ทุกความสำเร็จเป็นผลิตผลจาก แบรนด์บุคคลของเราทั้งสิ้น เดี๋ยวส่วนที่เหลือจะทยอยตามมานะครับ นักสร้างแบรนด์ทุกท่าน

#BRAND #BRANDi #BRANDist #BRANDing4pointO #BRANDigital #BRANDinnovativeCenter #Mark #Harvard


Credit Pic: Quartz
ขอบคุณ FB Page: BRANDist

Powered by MakeWebEasy.com