กลยุทธสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

Last updated: 6 ส.ค. 2560  |  2734 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กลยุทธสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน


ประเทศจีนสถาปนาการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเพียงสี่ปี ก่อนหน้านั้นประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนเสียยิ่งกว่าอินเดียซึ่งเป็นอาณานิยมของอังกฤษในยุคโน้น จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศ “คนป่วยแห่งเอเชีย” แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว สถานภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนก็ใช่ว่าจะดี หลังปฎิวัฒนธรรมที่สิ้นสุดลงในปี 1976 รายได้เฉลี่ยจีดีพีต่อหัวของประชากร ยังมีอัตราเป็นเพียงครึ่งเดียวของประเทศไทย ในยุคก่อนนั้น ครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ยังมีญาติอยู่ทีเมืองจีนยังต้องส่งเงินช่วยเหลือจุนเจือบรรดาญาติที่อาศัยอยู่ที่เมืองจีนอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งหลังทศวรรษที่ 1980 ไปแล้ว หลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงทำการปฎิรูประบบเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ประเทศจีนจึงรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจหมายเลขสองของโลกในยุคปัจจุบันในระยะเวลาไม่ถึงสี่สิบปี จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาว่าจีนใช้กลยุทธอะไรในการพัฒนาประเทศ จีงทำให้ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

ในปีเดียวกับที่มีการสถาปนประเทศจีนใหม่ รัฐบาลจีนได้จัดตั้งสถาบันวิชาการขั้นสูงของจีนเรียกว่า วิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานแห่งจีน Chinese Academy of Sciences (CAS) ซึ่งเป็นสถาบันที่รวบรวมเอาบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของจีนไว้ด้วยกัน นอกจากทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นคลังสมองหรือThink-Tankให้กับพรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนในการดำเนินการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจีนยังได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างชาติให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศด้วยการประกาศให้ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศเป็นวาระแห่งชาติ” พร้อมกับประกาศใช้แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ฉบับที่หนึ่ง(1949-1960) งานชิ้นแรกที่CAS ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการคือ การสร้างระเบิดนิวเคลียร์และจรวดขีปนาวุธข้ามทวีปนั่นเอง เพื่อสร้างมั่นคงให้กับรัฐเป็นเรื่องแรก เนื่องจากจีนเกรงว่าจะถูกสหรัฐรุนรานในยุคสงครามเย็นสมัยนั้น นอกจากนั้นCAS ยังจัดทำแผนแม่บทให้กับรัฐบาลในการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติขึ้น เพื่อสร้างเทคโนโลยีของตนเองและเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมหนักจากโซเวียตรัสเซีย

ต้นทศวรรษที่1960 จีนขัดแย้งกับโซเวียตรัสเซียอย่างรุนแรง โซเวียตรัสเซียตัดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความช่วยเหลือด้านวิทยาสตร์และเทคนิคกับจีนอย่างเด็ดขาด ทำให้จีนต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และจรวดขีปนาวุธด้วยตนเอง แต่นักวิทยาศตร์จีนก็สามารถพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนและส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศด้วยเทคโนโลยีของตนเองได้สำเร็จเป็นชาติที่สามของโลก และทำได้สำเร็จก่อนฝรั่งเศสที่เป็นชาติมหาอำนาจชาติที่มีพลังเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเหนือกว่าจีนมากมายในสมัยนั้น

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะที่สองของจีน (1979-2001)

หลังสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1976 เติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่พร้อมกับดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ทำให้จีนตระหนักว่าตนเองล้าหลังกว่าประเทศชั้นนำตะวันตกในทุกๆด้าน รัฐบาลจีนจึงได้ทำการปฎิรูปงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเองเสียใหม่ในทุกๆด้าน ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากที่เน้นการพัฒนาเพื่อมั่นคงแห่งรัฐเป็นหลักมาเป็นเพื่อสนันสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแทน ด้วยการใช้บุคลากรมันสมองด้านวิทยาศาสตร์ของตนมาทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับระบบอุตสาหกรรมการผลิตให้มากขึ้น

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะที่สามของจีน (2006-2025)

นับแต่ปี 1980 เป็นมา แม้จีนจะประสบผลสำเร็จในช่วงยี่สิบแรกของการปฎิรูปแผนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่การลงทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่ำที่ต้องใช้แรงงานราคาถูกอย่างเข้มข้น เช่น สิ่งทอและของเด็กเล่น ที่สำคัญเทคโนโลยีการผลิตสินค้าต่างๆล้วนต้องพึ่งพาและนำเข้าจากต่างชาติ จีนเป็นเพียงแหล่งผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ราคาถูกภายในแบรนด์เนมของต่างชาติเท่านั้น ดังนั้น ในปี 2006 รัฐบาลจีนจึงได้ให้ กระทรวงวิทยาศตร์และCASจัดทำแผนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นใหม่ เรียกว่า แผน 15ปี เพื่อสร้างนวัตกรรมของตนเอง (15-years plan for indigenous innovation) ต่อมา รัฐบาลจีนได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศร่วมกับสถาบันวิศวกรรมบัณฑิตยสถานแห่งจีน Chinese Academy of Engineering(CAE) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในปี 1994 ทำการปรับปรุงแผน 15ปีนี้เสียใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเน้นให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเครื่องจักรการผลิตทุกประเภทที่ใช้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดห่วงโซ่อุปทาน(Entire Supply Chain)ให้เป็นนวัตกรรมของจีนเอง ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกว่าแผน Made in China 2025 แผนนี้มีเป้าหมายว่า จีนจะเป็นประเทศผู้ทรงอำนาจในการผลิตสินค้าชั้นนำของโลก(Leading Manufacturing Power Country)ภายใต้แบรนด์เนมและเทคโนโลยีของจีนเอง

ความสำเร็จของการดำเนินนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

เพียงระยะ 10 ปีแรกหลังจากการริเริ่มแผน Made in China 2025 ประเทศจีนประสบผลสำเร็จอย่างมาก(โดยผ่านบทบาทของผู้ประกอบการของจีน)ในด้านต่อไปนี้

-เทคโนโลยีพลังงานแบบใหม่ โดยจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และกังหันลมผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบFast Breeder ขึ้นใช้เองเป็นจำนวนมาก

- เทคโนโลยีสารสนเทศ จีนเป็นผู้ผลิตและสร้างระบบเครือข่ายพื้นฐานด้านIT และบริษัทผู้ให้บริการE-Comerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

-เทคโนโลยีด้านอากาศยานและอวกาศ แม้ว่าจะตามหลังตะวันตกอยู่มาก แต่เป็นครั้งแรกที่จีนสามารถสร้างและจำหน่ายเครื่องบินไอพ่นโดยสารเชิงพาณิชย์ได้แป็นครั้งแรก และจีนเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถส่งดาวเทียมสื่อสารด้วยเทคโนโลยีใหม่เรียกว่า Quantum Technologyได้สำเร็จ

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ที่มีบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สัญชาติจีนขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปทั่วโลกทั้งในยุโรปและสหรัฐ


ถอดบทเรียนจากกลยุทธด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน

มีเหตผลหลายประการที่ทำให้จีนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ใครก็ปฎิเสธไม่ได้คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติและพัฒนาประเทศของจีน จึงขอนำกลยุทธโดยสังเขปมาอธิบายดังนี้

ก. รัฐจีนเข้าใจเป็นอย่างดีว่า หัวใจของการพัฒนาประเทศอยู่ที่การสร้างเทคโนโลยีเป็นของตนเอง(home grown technology) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆของประเทศ โดยวิธีการดังนี้

จีนใช้นโยบายสร้างคน คนสร้างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีมารับใช้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศ จีนมีระบบคัดกรองเด็กที่มีสติปัญญาเลิศทั่วประเทศที่ดีเยี่ยมเพื่อป้อนให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของตน และมหาวิทยาลัยชั้นนำผลิตบุคลากรระดับคุณภาพ เพื่อป้อนเข้าสู่สถาบันวิจัยและพัฒนาที่ทำหน้าที่เป็นคลังสมอง(Think-Tank)ให้กับภาครัฐอีกทีหนึ่ง เป็นทอดๆ สถาบันเหล่านี้นอกจากจะให้คำปรึกษากับรัฐแล้ว ยังมีหน้าที่วิจัยและพัฒนาเพื่อหาคำตอบให้กับประเทศด้วย ขณะที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ป้อนโจทย์หรือปัญหาของประเทศให้กับคลังสมองเหล่านี้ ทำให้หน่วยงานวิจัยของจีนสามารถวิจัยและใช้วิทยาศาสตร์สร้างเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับปัญหาของชาติ และนำไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ตรงจุดได้อย่างสร้างสรรค์

จีนไม่ได้มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบแคบๆแค่ใช้แก้ปัญหาด้านเทคนิคเท่านั้น แต่จีนยังให้ความสำคัญการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์เท่าๆกับด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เพื่อประยุกต์ใช้ในการวางกรอบนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสังคมต่างๆ จีนจัดตั้งสถาบันChinese Academy of Social Sciences (CASS)ขึ้นในปี 1977 เพื่อให้ทำงานคู่กับสถาบัน Chinese Academy of Sciences ที่มีมาแต่เดิม

ข. การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกรอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติต้องทำควบคู่กันตลอดเวลา เสมือนหนึ่งเป็นขาซ้ายขวาที่พาประเทศเดินไปข้างหน้า แผนพัฒนาเศรษฐและสังคมทุกฉบับที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้น จะเกิดมีประสิทธิผลก็ด้วยการขับเคลื่อนแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่นเอง เป้าหมายหลักในระยะยาวของจีนก็คือ การพึ่งพาเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างเบ็ดเสร็จในระยะยาว และเข็มมุ่งแบบนี้รัฐบาลจีนทำกันตั้งแต่ปีแรกที่มีการสถาปนาประเทศจีนใหม่ในปี คศ. 1949

ค. จีนใช้วิธีการโฟกัสเทคโนโลยีเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของประเทศในแต่ละห้วงเวลา ตามฐานะทางเศรษฐกิจของตน แต่จีนจะไม่ใช้วิธีอยากได้อยากเป็นไปทุกเรื่อง(ทั้งที่หลายๆเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของตนเลยดังที่บางประเทศทำกัน) เช่น ในยุคแรกที่จีนยังยากจนอยู่มาก จีนทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปที่เรื่องเดียวคือ สร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงของรัฐ หลังยุคสงครามเย็นไปแล้ว จีนจึงค่อยปรับเปลี่ยนไปเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศแทน และเน้นไปที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ เพื่อนำมาดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของตน

ง. จีนใช้วิธีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกัน จีนใช้กระทรวงวิทยาศาสตร์และสถาบันChinese Academy of Sciences เป็นหัวหอกในสร้างนโยบายและกำกับแผนในทางปฎิบัติ ทำหน้าที่ประสานงานกันฝ่ายต่างๆให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันอย่างกลมกลืน(Seamlessly) ระหว่างฝ่ายวิจัย(หน่วยงานวิจัยต่างๆที่สังกัดรัฐบาลกลาง หน่วยงานมณฑล กระทรวงอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย) ฝ่ายผลิต(กระทรวงอุตสหากรรม รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน) ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันผลิตคนเฉพาะทางที่สังกัดรัฐบาลกลาง)

จ. จีนใช้เทคนิคเลียนแบบและพัฒนา (Copy and Development)ตลอดห่วงโซ่การผลิต จนไปสู่การสร้าง Innovation Technology ของตนเอง

รัฐบาลจีนตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่าจุดอ่อนจุดแข็งในแต่ละห้วงของการพัฒนาประเทศเป็นอย่างไร ในช่วงแรก จีนตระหนักดีว่าตนเองยังสะสมทุนไม่มากพอและยังต้องพึ่งพาต่างชาติอยู่มาก แต่มีข้อได้เปรียบที่มีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและตลาดบริโภคขนาดใหญ่ จีนจึงใช้กลยุทธดึงให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ ยอมให้ต่างชาติแสวงกำไรจากตลาดขนาดใหญ่ของตน แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือนายทุนต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับหุ้นส่วนชาวจีน(ที่อาจเป็นรัฐหรือเอกชน) เนื่องจากในระยะแรกที่เปิดประเทศ จีนยังไม่มีผู้ประกอบการที่เป็นคนจีน รัฐบาลจีนจึงใช้ทรัพยากรมนุษย์ของตนที่อยู่ตามหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลกลางและกระทรวงต่างๆ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการออกแบบจากต่างชาติ ในระยะต่อมาจึงได้ใช้หน่วยงานเหล่านี้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบริษัทผู้ผลิตของจีนอีกทีหนึ่ง

ในระยะแรกการลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าเทคโนโลยีต่ำและใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ของเด็กเล่น รวมถึงการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนตามสั่ง (OEM) ให้กับต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ แม้ความรู้เหล่านี้ช่วยให้จีนทำสินค้าเลียนแบบได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมต่างๆของชาติตะวันตก แต่มีข้อเสียที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติไปตลอดกาล ดังนั้น

ในระยะต่อมา ตั้งแต่ปี 2006 จีนจึงปรับเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการสร้างเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมของตนเองแทน อาศัยการองค์ความรู้ที่สะสมมาแต่เดิมและที่ได้รับการถ่ายทอดจากตะวันตกหลังเปิดประเทศ ทำการวิจัยพัฒนาเสียใหม่ผ่านทางหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลกลางและกระทรวงต่างๆที่เกียวข้องและของภาคเอกชน หน่วยงานวิจัยเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นหัวหอกอีกครั้งในการถ่ายทอดงานวิจัยให้กับบริษัทผู้ผลิตของจีน จนสามารถออกแบบสินค้าภายใต้แบรนด์เนมของตน


จาก.. รศ. ดร. จำนง สรพิพัฒน์ 

กรรมการสถาบันคลังปัญญาเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต

Powered by MakeWebEasy.com