Last updated: 20 ธ.ค. 2559 | 599 จำนวนผู้เข้าชม |
มาเข้าใจในรายละเอียดของ Digital Money ที่กำลังจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินในอนาคตอันใกล้นี้........
#สรุป แผนใหญ่ National e-Payment ที่ไม่ได้มีแค่พร้อมเพย์ กับหนทางต่อไปสู่การเป็นประเทศดิจิตอล 4.0
1. เฮ็นโหลว...พวกเธอได้ลองใช้ #พร้อมเพย์ กันบ้างรึยัง แอดมินลองแล้ว ก็สะดวกดีนะ (อีดิท...จริงๆ มันยังใช้ไม่ได้นะ แอดมึน เข้าใจผิดเอง...จะใช้ได้ปลายปีนี้จ้ะ) ก็ไม่เป็นไร เพราะตามแผน National e-Payment ของรัฐ สุดท้ายแล้วระบบมันจะครอบคลุมมากจนใช้ได้ในแทบทุกจุดของชีวิตเลยทีเดียว แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็คงใช้เวลาอีกซักพัก เพราะตัวระบบที่เราใช้กันตอนนี้ยังเป็นแค่สเต็ปแรกของโครงการเท่านั้น ยังมีโครงการถัดๆ ไปอีก ซึ่งแอดมินได้มีโอกาสไปนั่งคุยเรื่องนี้กับสมาคมธนาคารไทย แบบว่าแอบไปหาข่าววงในมา แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดี เลยเอามาเล่าสู่กันฟังจ้ะ
2. คืองี้... พร้อมเพย์ นี่เป็นโครงการแรกของ National e-Payment คือการจ่ายเงินระหว่างคนกับคน (persen to person: P2P) ซึ่งประโยชน์ของมันไม่ใช่แค่ความสะดวกอย่างเดียวนะ แต่ยังช่วยประหยัดค่าโอนด้วย จากเมื่อก่อนจะโอนข้ามธนาคารต้องเสียค่าธรรมเนียม 25-35 บาท แต่ถ้าโอนด้วยพร้อมเพย์ไม่เกิน 5,000 บาทนี่ฟรีค่าโอนเลย หรือถ้าไม่เกิน 3 หมื่น คิดค่าโอนไม่เกิน 2 บาท โอนไม่เกินแสนบาท ค่าโอนไม่เกิน 5 บาท ทั้งสะดวกทั้งประหยัดแบบนี้ พวกพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ บนเฟซบุ๊คบนไอจีนี่เลิฟเลย เพราะไม่ต้องไปวิ่งเปิดบัญชีหลายๆ ธนาคารละ เปิดที่เดียวแล้วเอาเบอร์มือถือของร้านผูกไว้ จบเลย ลูกค้าใช้ธนาคารอะไรก็รับได้หมด
3. แล้วนอกจากโอนแบบคนกับคน (P2P) แล้วเนี่ย ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่ Natioal e-Payment จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตชาวไทยเรา ไม่ว่าจะรับจ่ายเงินระหว่างคน ธุรกิจ หรือรัฐ ต่อไปจะเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดละ เตรียมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัว
4 อย่างการจับจ่ายในชีวิตประจำวัน พวกซื้อของช้อปปิ้งตามร้านค้า เดี๋ยวช่วงต้นปีหน้า ขึ้นโครงการ 2 จะเป็นการขยายเครือข่ายการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็น 2 ล้านจุดทั่วประเทศ (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1แสนจุด) ทีนี้เราก็ไม่ต้องไปกดเงินสดกันบ่อยๆ ละ ใช้พวกบัตรเงินสด บัตรเครดิต เดบิตต่างๆ จ่ายตามจุดพวกนี้ได้เลย ร้านใหญ่หน่อยก็อาจจะเป็นเครื่องอ่านบัตรไป ร้านเล็กๆแบบ รถเข็นหมูปิ้ง มอไซรับจ้าง อยากคล่องตัวก็ใช้จะเป็นเครื่องอ่านบัตรแบบเสียบกับมือถือ (MPOS) ก็ยังได้ ลดต้นทุนจัดการเงินสดได้ทั้งประเทศ แถมเพิ่มความปลอดภัยด้วย เพราะมีงานวิจัยในหลายๆประเทศแล้วพบว่าการหันมาใช้ e-Payment นั้นสามารถลดอัตราการจี้ปล้นตามถนนได้จริงๆ
5. แล้วยิ่งในโครงการถัดไปก็จะเน้นการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้งพวกบริษัทห้างร้านที่ขายของให้คนทั่วไป (business to consumer: B2C) หรือธุรกิจจ่ายเงินกันเอง (business to business: B2B) ซึ่งปกติจะต้องมีการวางบิล ออกใบเสร็จ ออกใบกำกับภาษี ใบหัก ณ ที่จ่าย แล้วบางทีต้องจ้างพี่สุชาติพี่แมสเซนเจอร์ให้เอาเอกสารพวกนี้ไปส่งลูกค้า เพราะสรรพากรเขาบอกว่าต้องใช้เอกสารตัวจริงทั้งหมด
6. แต่ในเฟส 3 นี่จะยอมให้ส่งแบบออนไลน์ได้หมดเลย ไม่ต้องเปลืองเงินเปลืองเวลารับส่งเอกสารกระดาษกันอีก (พี่สุชาติหมดประโยชน์) หรือถ้าใช้ระบบธนาคารในการรับจ่ายเงิน ก็สามารถให้ธนาคารหัก VAT และภาษี ณ ที่จ่าย ส่งสรรพากรให้ได้เลย แล้วค่อยส่งสำเนาให้ทั้งสองฝ่าย เพราะระบบภาษีจะออนไลน์ทั้งหมดแล้ว ซึ่งเรื่อง e-TAX นี้จะเริ่มในช่วงปี 2561 (ที่ต้องรอนานอีกนิดนึง เพราะต้องแก้กฎหมายการนำส่งข้อมูลภาษีและเงินหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งการพัฒนาระบบทั้งทางภาครัฐและภาคธนาคารด้วย)
7. ในส่วนของภาครัฐนี่จะย่ิงล้ำมาก ต่อไปการจ่ายเงินของภาครัฐไปให้กับประชาชน (government to citizens: G2C) เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงานภาครัฐ หรือสวัสดิการภาครัฐพวกเบี้ยชรา ค่านมแม่ การให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย เงินคืนภาษีรายได้ รัฐก็จะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่เราผูกกับเลขบัตรประชาชนได้เลย ในทางกลับกัน เงินที่เราต้องจ่ายให้รัฐ (citizens to government: C2G) เช่นพวกเงินประกันสังคม ค่าโอนที่ดิน ค่าปรับจากพี่ตำรวจ ก็จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด ประหยัดเวลา ลดต้นทุน ไม่ตกหล่นระหว่างทาง
8. ส่วนการจ่ายเงินของภาครัฐไปให้กับภาคธุรกิจ (government to business: G2B) เช่น การคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม การคืนเงินกู้ยืมจากภาครัฐ และการจ่ายชำระค่าจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งหมดก็จะเป็นอิเล็กทรนิกส์เช่นกัน
9. ยกตัวอย่างที่สหรัฐ ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐได้พัฒนาไปจนถึงขั้นตั้งเว็บไซค์กลางขึ้นมาสำหรับการชำระค่าธรรมเนียมภาครัฐ เพื่อให้คนทั่วไปและภาคธุรกิจสามารถชำระเงินค่าธรรมเนียมหลายประเภทให้ภาครัฐได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมศาล การชำระคืนเงินกู้ของธุรกิจขนาดเล็ก ค่าจอดรถสาธารณะ ค่าปรับจราจร ค่าฝึกอบรมพนักงาน เงินบริจาคเงิน หรือแม้กระทั่งให้แอดเพิ่มใบแจ้งหนี้สาธารณูปโภคอื่นๆ ที่มีการลงทะเบียนไว้ลงไปได้อีกด้วย แถมยังเลือกได้อีกว่าจะจ่ายครั้งดียวจบ หรือหักอัตโนมัติทุกเดือนก็ได้ จะเลือกตัดผ่าน บัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ PayPal ก็ยังได้ สะดวกกันสุดๆ ไปเลย (ไทยเราจะไปถึงขั้นนี้รึเปล่า ก็รอดูกัน)
9. หรืออย่างที่บราซิลนี่ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จกับโครงการรัฐให้เงินช่วยเหลือคนยากจนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (G2C) จากเมื่อก่อนการจ่ายยังไม่รวมศูนย์ แต่ละหน่วยงานก็จ่ายกันคนละวิธี บางคนได้เงินแล้วยังได้อีก เรียกว่าการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ตอนปี 2003 รัฐบาลเลยปฏิรูปใหม่ รวมทุกโครงการเข้ามาอยู่ใต้โครงการเดียวคือ Bolsa Familia Program (BFP) แล้วรัฐจะโอนเงินช่วยเหลือผ่านบัตรเงินสด (Electronic Benefit Cards: EBCs) คนรับก็เอาบัตรไปถอนเงินสดตามจุดขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องเอทีเอ็ม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ลดขั้นตอนและต้นทุนในการบริหารจัดการสวัสดิการภาครัฐ แถมเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้ด้วย
#สรุป1 ภาพใหญ่ของ National e-Payment ก็แบ่งเป็น 4 เฟสตามที่เล่าไป พร้อมเพย์นี่แค่จุดเริ่มเท่านั้น พอทำครบทุกโครงการ เราก็จะเข้าสู่สังคมดิจิตอลกันเต็มตัวละ ข้อดีคือความสะดวก คล่องตัว ประหยัดต้นทุนต่างๆ โปร่งใสตรวจสอบได้ เงินไม่รั่วไหลระหว่างทาง ใครยังไม่ได้สมัครพร้อมเพย์ก็รีบสมัครกันนะตัวเธอ
#สรุป2 ส่วนเรื่องความปลอดภัยของพร้อมเพย์ที่หลายคนกังวลก็ไม่ด้อยกว่าของเดิมเลย เพราะเอาจริงๆ แล้วตัวพร้อมเพย์มันไม่ได้เป็นบัญชีแบบใหม่ หรือระบบโอนเงินแบบใหม่อะไรนะ มันแค่ช่วยให้คนอื่นโอนเงินเข้าบัญชีเราได้สะดวกขึ้นเท่านั้นเอง และเมื่อมันเป็นระบบออนไลน์แล้ว เราผู้ใช้ก็ต้องคิดถึงเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ไว้ให้มั่น โดยมีข้อหลักๆ ที่ต้องคำนึงไว้ตลอดคือ ข้อมูลส่วนตัวบัตรประชาชนอย่าให้หลุด ระวังว่าเป็นเว็บไซต์หลอกลวงหรือแอพหลอกลวง ไม่ใช้เครือข่ายที่ไม่รู้จัก และระมัดระวังเรื่องยูสเซอร์พาสเวิร์ดให้ดี ไม่งั้นจากพร้อมเพย์ จะกลายเป็น #พร้อมเพลีย ได้นะจ๊ะ
#สรุป3 และแถมช่วง #สรุปดำทำธุรกิจ ต่อไปเบอร์มือถือจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เพราะมันผูกกับบัญชีรับเงิน ใครมีอาชีพทางดูดวงตัวเลขอะไรนี่ก็เตรียมให้ดีเลยนะ พวกเบอร์พร้อมเพย์โชคลาภ เบอร์นี้เรียกเงินเรียกทอง ใช้แล้วเงินทองไหลมาเทมาอะไรพวกนี้นี่ ขายดีแน่นอน แอดมินขอฟันธง
โพสนี้เราได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย ต้องขอแสดงความขอบคุณมา ณ ที่นี้
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
12 มี.ค. 2561