ทำจิตอย่างไรจึงไกลทุกข์

Last updated: 18 ม.ค. 2561  |  463 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงใด ก็หนีทุกข์ไม่พ้น ทุกข์นั้นมีสองอย่าง คือ ทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจ ทุกข์กายนั้นมักจะเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ดินฟ้าอากาศ เชื้อโรค สารพิษ อุบัติเหตุ รวมทั้งคนที่มุ่งร้าย ส่วนทุกข์ใจนั้น แม้มีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้อง แต่สาเหตุหลักนั้นอยู่ที่ใจของเราเอง เช่น มองลบ คิดร้าย ผูกใจเจ็บ และเมื่อสาวไปให้ถึงที่สุด ก็จะพบว่า เกิดจากความเห็นผิดในตัวกูของกู

เมื่อมีความทุกข์ใจ คนส่วนใหญ่มักจะโทษปัจจัยภายนอก มองไม่เห็นสาเหตุที่ใจของตน ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไร ใจก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง ต่อเมื่อตระหนักว่าตัวการที่แท้นั้นอยู่ที่ภายใน มิใช่ภายนอก การทำใจให้กลับมาเป็นปกติจึงจะเกิดขึ้นได้

ใจจะเป็นอิสระจากทุกข์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อละความเห็นผิดในตัวกูของกูได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะที่ยังละความเห็นผิดดังกล่าวไม่ได้ อีกทั้งยังลดไม่ได้มาก ทุกข์ใจก็ยังบรรเทาได้ ด้วยการรู้จักวางใจอย่างถูกต้องจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีสติรู้ทันอาการของใจเมื่อเกิดทุกข์หรือมีเหตุร้ายมากระทบ แม้เหตุร้ายยังแก้ไขไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ซ้ำเติมตัวเอง ด้วยการรักษาใจให้เป็นปกติ

ผู้คนยุคนี้มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ทุกข์กายมีน้อยลง แต่ทุกข์ใจกลับเพิ่มมากขึ้น จนผู้คนมากมายหันไปพึ่งยาและวัตถุสิ่งเสพ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเรามองข้ามจิตใจของตน ไม่เห็นความสำคัญของการฝึกจิตรักษาใจ แต่ในระยะยาวแล้วเราทุกคนก็หนีความทุกข์กายไม่พ้น โดยเฉพาะเมื่อร่างกายแก่ชราหรือล้มป่วย ถึงตอนนั้นหากไม่รู้จักรักษาใจ ก็จะยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น จะว่าไปแล้ว กายนั้นมีแต่จะทุกข์มากขึ้น ส่วนใจนั้นสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ หากเราหมั่นฝึกจิตรักษาใจ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ปล่อยวางความทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ปัญญาที่เกิดขึ้นยังช่วยให้ละวางความเห็นผิดในตัวกูของกูได้ในที่สุด จนทุกข์ไม่อาจย่ำยีบีฑาได้อีกต่อไป

หนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้มีที่มาจากคำบรรยายหลังทำวัตรเช้าเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ณ วัดป่าสุคะโต ชมรมกัลยาณธรรมมีความประสงค์ขอตีพิมพ์เป็นเล่มเพื่อแจกเป็นธรรมบรรณาการในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้ายินดีอนุญาตและหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักทำจิตรักษาใจเพื่อไกลทุกข์เป็นลำดับ

Cr.โดย พระไพศาล วิสาโล

Powered by MakeWebEasy.com