บุญที่ถูกลืม

Last updated: 30 ต.ค. 2560  |  562 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บุญที่ถูกลืม


พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

“คุณนายแก้ว” เป็นเจ้าของโรงเรียนที่ชอบทำบุญมาก เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าทอดกฐินอยู่เนือง ๆ ใครมาบอกบุญสร้างโบสถ์วิหารที่ไหน ไม่เคยปฏิเสธ

เธอปลื้มปิติมากที่ถวายเงินนับแสนสร้างหอระฆัง

ถวายวัดข้างโรงเรียน

แต่เมื่อได้ทราบว่านักเรียนคนหนึ่งไม่มีเงินจ่าย

ค่าเล่าเรียนค้างชำระมาสองเทอมแล้ว เธอตัดสินใจไล่นักเรียนคนนั้นออกจากโรงเรียนทันที

-----------------

“สายใจ”พาป้าวัย ๗๐ และเพื่อนซึ่งมีขาพิการไปถวายภัตตาหารเช้าที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นที่ศรัทธานับถือของ

ประชาชนทั่วประเทศ

เช้าวันนั้นมีคนมาทำบุญคับคั่ง จนลานวัดแน่น

ขนัดไปด้วยรถ เมื่อได้เวลาพระฉัน ญาติโยมก็พากันกลับ สายใจพาหญิงชราและเพื่อนผู้พิการเดิน

กะย่องกะแย่งฝ่าแดดกล้าไปยังถนนใหญ่เพื่อ

ขึ้นรถประจำทางกลับบ้าน

ระหว่างนั้นมีรถเก๋งหลายสิบคันแล่นผ่านไป

แต่ตลอดเส้นทางเกือบ ๓ กิโลเมตร ไม่มีผู้ใจบุญคนใดรับผู้เฒ่าและคนพิการขึ้นรถ

เพื่อไปส่งถนนใหญ่เลย

-----------------

เหตุการณ์ทำนองนี้ มิใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดในสังคมไทย

“ชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ” เป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนากันอย่างไร จึงมีพฤติกรรมแบบนี้กันมาก เหตุใดการนับถือพุทธศาสนา จึงไม่ช่วยให้คนไทยมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่ทุกข์ยาก

การทำบุญ ไม่ช่วยให้คนไทยมีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่นเลยหรือ หากสังเกตจะพบว่า การทำบุญของคนไทย มักจะกระทำต่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน เช่น พระภิกษุสงฆ์ วัดวาอาราม พระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่กับสิ่งที่ถือว่าอยู่ต่ำกว่าตน เช่น คนยากจน หรือสัตว์น้อยใหญ่ เรากลับละเลยกันมาก (ยกเว้นคนหรือสัตว์ที่ถือว่าเป็น “พวกกู” หรือ “ของกู”)

แม้แต่เวลาไปทำบุญที่วัด เราก็มักละเลยสามเณรและแม่ชี แต่กุลีกุจอเต็มที่กับพระสงฆ์

อะไรทำให้เราชอบทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตน

ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเราเชื่อว่า สิ่งสูงส่งเหล่านั้น สามารถบันดาลความสุข หรือให้สิ่งดี ๆ ที่พึงปรารถนา

แก่เราได้ เช่น ถ้าทำอาหารถวายพระ บริจาคเงินสร้างวัด หรือพระพุทธรูป ก็จะได้รับความมั่งมีศรีสุข มีอายุ วรรณะ

สุข พละ เป็นต้น หรือช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ มีความสุขสบายในชาติหน้า

ในทางตรงข้าม สิ่งที่อยู่ต่ำกว่าเรานั้น ไม่มีอำนาจที่จะบันดาลอะไรให้เราได้ หรือไม่ช่วยให้เราสุขสบายขึ้น เราจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือเผื่อแผ่ให้แก่สิ่งเหล่านั้น นั่นแสดงว่าที่เราทำบุญกันมากมาย ก็เพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ

ดังนั้น ยิ่งทำบุญด้วยท่าทีแบบนี้ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้น ผลคือจิตใจยิ่งคับแคบ ความเมตตา กรุณาต่อผู้ทุกข์ยาก มีแต่จะน้อยลง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การทำบุญแบบนี้ กลับจะทำให้ได้บุญน้อยลง

แน่นอนว่า ประโยชน์ย่อมเกิดแก่ผู้รับอยู่แล้ว เช่น หากถวายอาหาร อาหารนั้น ย่อมทำให้พระสงฆ์ มีกำลังในการศึกษา ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น แต่อานิสงส์ที่จะเกิดแก่ผู้ถวายนั้น

ย่อมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเจือด้วยความเห็นแก่ตัว ยิ่งถ้าทำบุญ ๑๐๐บาท เพราะหวังจะได้เงินล้าน บุญที่เกิดขึ้นย่อมน้อยลงไปอีก เพราะใช่หรือไม่ว่า

นี่เป็นการ “ค้ากำไรเกินควร”

บุญที่ทำในรูปของการถวายทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือเงินก็ตาม จุดหมายสูงสุด

อยู่ที่การลดความยึดติดถือมั่น ในตัวกูของกู ยิ่งลดได้มากเท่าไร

ก็ยิ่งเข้าใกล้นิพพาน อันเป็นประโยชน์สูงสุด ที่เรียกว่า “ปรมัตถะ” ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ในชาติหน้า (สัมปรายิกัตถะ) หรือความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้ (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) แต่หากทำบุญเพราะหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน อยากได้เข้าตัวมาก ๆ แทนที่จะสละออกไป ก็ยิ่งห่างไกลจากนิพพาน หรือกลายเป็นอุปสรรค ขวางกั้นนิพพานด้วยซ้ำ

อันที่จริง อย่าว่าแต่นิพพานเลย แม้แต่ความสุขในปัจจุบันชาติ ก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจิตที่คิดแต่จะเอานั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ในทานมหัปผลสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่าทาน

ที่ไม่มีอานิสงส์มากได้แก่ “ทานที่ให้อย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ” รวมถึงทานที่ให้เพราะต้องการเสวยผลในชาติหน้า เป็นต้น

พิจารณาเช่นนี้ ก็จะพบว่า ทานที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ทำกันนั้น หาใช่ทานที่พระองค์สรรเสริญไม่ นอกจากทำด้วยความมุ่งหวังประโยชน์

ในชาติหน้าแล้ว ยังมักมีเยื่อใยในทานที่ถวาย

กล่าวคือทั้ง ๆ ที่ถวายให้พระสงฆ์ไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากใจ แต่ใจยังมีเยื่อใยในของชิ้นนั้นอยู่ เช่น เมื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์แล้วก็ยังเฝ้าดู

ว่าหลวงพ่อจะตักอาหาร “ของฉัน”หรือไม่

หากท่านไม่ฉัน ก็รู้สึกไม่สบายใจ คิดไปต่าง ๆ นานา นี้แสดงว่ายังมีเยื่อใย ยึดติดผูกพันอาหารนั้นว่า

เป็นของฉันอยู่ ไม่ได้ถวาย ให้เป็นของท่านอย่างสิ้นเชิง

เยื่อใยในทานอีกลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ทั่วไป ก็คือ การมุ่งหวังให้ผู้คนรับรู้ว่าทานนั้น ๆ ฉันเป็นผู้ถวาย ดังนั้นตามวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วประเทศ ของใช้ต่าง ๆ ไม่ว่า ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หม้อ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนขอบประตูหน้าต่างในโบสถ์ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงมีชื่อผู้บริจาค

อยู่เต็มไปหมด กระทั่งพระพุทธรูปก็ไม่ละเว้น ราวกับจะยังแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ หาไม่ก็หวังให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญตน

การทำบุญอย่างนี้ จึงไม่ได้ละความยึดติดถือมั่นในตัวตนเลย หากเป็นการประกาศตัวตนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง การทำบุญแบบนี้แม้จะมีข้อดีตรงที่ช่วยอุปถัมภ์

วัดวาอารามและพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้คน

มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือไร้อำนาจวาสนา

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมืองไทยมี

วัดวาอารามใหญ่โต และสวยงามมากมาย แต่เวลาเดียวกัน ก็มีคนยากจน และเด็กถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่นับสัตว์อีกนับไม่ถ้วน ที่ถูกละเลย หรือถูกปลิดชีวิตแม้กระทั่งในเขตวัด อันที่จริงถ้ามองให้กว้างกว่าการทำบุญ ก็จะพบปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกัน

นั่นคือ คนไทยนิยมทำดีกับคนที่ถือว่าอยู่สูงกว่าตน แต่ไม่สนใจที่จะทำดีกับคนที่ถือว่าต่ำกว่าตน เช่น ทำดี กับเจ้านาย คนรวย ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลเดียวกันคือ คนเหล่านั้นให้ประโยชน์แก่เราได้ (หรือแม้เขาจะให้คุณได้ไม่มาก แต่ก็สามารถให้โทษได้) ประโยชน์ในที่นี้ ไม่จำต้องเป็นประโยชน์ทางวัตถุ อาจเป็นประโยชน์ทางจิตใจ ก็ได้ เช่น คำสรรเสริญ หรือการให้ความยอมรับ

ประการหลังคือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยขวนขวาย

ช่วยเหลือฝรั่งที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างเต็มที่ แต่กลับเมินเฉย หากคนที่เดือดร้อนนั้นเป็นพม่า มอญลาว เขมร

หรือกะเหรี่ยง ใช่หรือไม่ว่า คำชื่นชมของพม่า

หรือกะเหรี่ยง ความหมายกับเราน้อยกว่า

คำสรรเสริญของฝรั่ง

บุคคลจะได้ชื่อว่าเป็นคนใจบุญ ไม่ใช่เพราะนิยมทำบุญกับสิ่งที่อยู่สูงกว่าตนเท่านั้น หากยังยินดีที่จะทำบุญกับสิ่งที่เสมอกับตน หรืออยู่ต่ำกว่าตนอีกด้วย แม้เขาจะไม่สามารถให้คุณ ให้โทษแก่ตนได้ ก็ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้เพราะมิได้หวังผลประโยชน์ใด ๆ นอกจากความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ นี้คือกรุณาที่แท้ในพุทธศาสนา

การทำดีโดยหวังผลประโยชน์ หรือยังมีการแบ่งแยก และเลือกปฏิบัติอยู่ ย่อมไม่อาจเรียกว่า ทำด้วยเมตตากรุณาอย่างแท้จริง จะว่าไปแล้ว ไม่เพียงความใจบุญ หรือความเป็นพุทธเท่านั้น แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ก็วัดกันที่ว่า

เราปฏิบัติอย่างไร กับคนที่อยู่ต่ำกว่าเรา หรือมีอำนาจน้อยกว่าเรา หาได้วัดที่การกระทำต่อคนที่อยู่สูงกว่าเราไม่

ถ้าเรายังละเลยเด็กเล็ก ผู้หญิง คนชรา

คนยากจน คนพิการ คนป่วย

รวมทั้งสัตว์เล็กสัตว์น้อย แม้จะเข้าวัดเป็นประจำ บริจาคเงินให้วัด อุปถัมภ์พระสงฆ์มากมาย ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นคนใจบุญ เป็นชาวพุทธ หรือเป็นมนุษย์ที่แท้

ไม่ผิดหากจะกล่าวว่า นี้เป็นเครื่องวัดความเป็นศาสนิกที่แท้ใน

ทุกศาสนาด้วย แม้จะปฏิบัติตามประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เมินเฉยความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์

หรือยิ่งกว่านั้นคือ กดขี่บีฑาผู้คนในนามของพระเจ้า ย่อมเรียกไม่ได้ว่าเป็นศาสนิกที่แท้ จะกล่าวไปใยถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ในแง่ของชาวพุทธ การช่วยเหลือผู้ที่

ทุกข์ยากเดือดร้อน ทั้ง ๆ ที่เขาไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่เราได้ เป็นเครื่องฝึกใจให้มีเมตตากรุณา และลดละความเห็นแก่ตัวได้เป็นอย่างดี

ยิ่งทำมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งเปิดกว้าง อัตตาก็ยิ่งเล็กลง ทำให้มีที่ว่างเปิดรับความสุขได้มากขึ้น ยิ่งให้ความสุขแก่เขามากเท่าไร เราเองก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น สมดังพุทธพจน์ว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” เป็นความสุขที่ไม่หวังจะได้รับ แต่ยิ่งไม่อยาก ก็ยิ่งได้ ในทางตรงข้ามยิ่งอยาก ก็ยิ่งไม่ได้

เมื่อใจเปิดกว้างด้วยเมตตากรุณา เราจะพบว่าไม่มีใครที่อยู่สูงกว่าเราหรือต่ำกว่าเรา ถึงจะเป็นพม่า มอญ ลาว เขมร กะเหรี่ยง ลัวะ ขมุ เขาก็มีสถานะเสมอเรา คือเป็นเพื่อนมนุษย์ และเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา แม้แต่สัตว์ก็เป็นเพื่อนเราเช่นกัน จิตใจเช่นนี้คือจิตใจของชาวพุทธ และเป็นที่สถิตของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

การทะนุบำรุงพุทธศาสนาที่แท้ ก็คือการบำรุงหล่อเลี้ยงจิตใจเช่นนี้ให้

เจริญงอกงามในตัวเรา ในลูกหลานของเรา และในสังคมของเรา หาใช่การทุ่มเงินสร้างโบสถ์วิหารราคาแพง ๆ หรือสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่โตที่สุดในโลกไม่

ดังนั้น เมื่อใดที่เราเห็นคนทุกข์ยาก ไม่ว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน เชื้อชาติอะไร

ต่ำต้อยเพียงใด อย่าได้เบือนหน้าหนี ขอให้เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของเขา แล้วถามตัวเองว่า เราจะช่วยเขาได้หรือไม่ และอย่างไร เพราะนี้คือโอกาสดีที่เราจะได้ทำบุญ ลดละอัตตาตัวตน และบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง

โดย… พระไพศาล วิสาโล

Powered by MakeWebEasy.com