มารู้จักกับ Death Cleaning

Last updated: 24 ต.ค. 2560  |  740 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Death Cleaning

เป็นความคิดที่น่าสนใจมาก เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครรู้ว่าเรามีทรัพย์สินและข้าวของอะไรบ้าง มีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าง มากเท่ากับตัวเราเอง ถ้าไม่เตรียมตัวลดของลงให้เหลือน้อยที่สุด คนข้างหลังก็จะมีความยุ่งยากในการจัดการ บางอย่างอาจจะหายไปตลอดกาลหลังเราตาย ดังนั้นเป็นความคิดที่ดีมากที่เราจะเริ่มการทำความสะอาด จัดการ และจัดระบบข้าวของของเราให้เรียบร้อย เป็นการทำ 5 ส ของชีวิตให้เป็นระเบียบตั้งแต่ยังไม่ตายค่ะ

Death Cleaning แนวคิดจากสวีเดน ว่าด้วยการจัดการสิ่งของต่างๆ ในชีวิตให้เหลือน้อยที่สุดก่อนตาย

.

หนังสือเล่มนี้น่าอ่านจัง เสื้อตัวนี้สวยจัง แบรนด์นี้ออกคอลเล็กชั่นใหม่อีกแล้ว เราอยู่ในยุค Fast Fashion ที่มีข้าวของล่อตาล่อใจออกใหม่ให้ซื้อให้สะสมตลอดเวลา กว่าจะรู้ตัวข้าวของก็กองเต็มบ้าน คำถามคือถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้ว ข้าวของเหล่านั้น ใครจะต้องจัดการ? แล้วเขาจะเอาไปไว้ไหน?

.

‘döstädning’ หรือ Death Cleaning เป็นแนวคิดที่กำลังเกิดขึ้นในสวีเดน ว่าด้วยการลดจำนวนข้าวของในชีวิตเราให้เหลือน้อยชิ้นที่สุด เพื่อที่เวลาเราตายจากไป จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่นต้องจัดการ โดย Margareta Magnusson นักเขียนชาวสวีเดน อธิบายไว้ในหนังสือชื่อ ‘The Gentle Art of Swedish Death Cleaning’ ที่กำลังจะวางขายเดือนมกราคมปีหน้า

.

หลักการของ Death Cleaning คือให้โฟกัสที่พื้นที่ว่าง แทนที่จะเป็นสิ่งของที่มี อาจจะเริ่มพิจารณาจากข้าวของที่ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องมากนัก เช่นเสื้อผ้าที่เคยใส่แล้วคงไม่ใส่อีก หรือแมกกาซีนที่ซื้อมาอ่านแล้วไม่ได้คิดจะเปิดดูอีก จะทิ้ง จะบริจาค หรือจะให้คนที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเขามากกว่าก็ได้

.

คนเขียนบอกว่า วิธีทำ Death Cleaning ให้ได้ผล เบื้องต้นคือให้พูดถึงมันบ่อยๆ บอกคนอื่นว่าฉันทำนั่นทำนี่อยู่ เพราะจะทำให้เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ ต้องลงมือทำมากขึ้น และสองคืออย่ากลัว ถึงชื่อ Death Cleaning จะดูเป็นเรื่องของความตาย แต่ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องของการกลับไปย้อนมองชีวิตและความทรงจำมากกว่า

.

Magnusson บอกว่าแนวคิด Death Cleaning นี้ได้มาจากสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการย้ายบ้านทั้งหมด 17 ครั้งตลอดชีวิตของเธอ คือการรู้ว่าอะไรที่ควรเก็บและอะไรที่ควรโยนทิ้ง เธอแนะนำให้เริ่มลองทำสักตอนอายุ 50 แต่จริงๆ จะเริ่มตอนอายุเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของการทิ้งสิ่งของ แต่เป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรมการซื้อและการเก็บรักษาด้วย ก็เหมือนเป็นการจัดระเบียบชีวิตในทุกๆ วัน

.

แนวคิด Death Cleaning นี้ ต่างกับหลักการจัดบ้านแบบ KonMari ของ Marie Kondo (คนเขียนหนังสือ ‘ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว’) ตรงที่มันจะใช้เวลาหลายปี ค่อยเป็นค่อยไป และมีความรู้สึกของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ก่อนตายมาเกี่ยวข้อง

.

Magnusson ยังบอกว่าใครที่ทำ Death Cleaning ก็สามารถหาความสุขจากกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งของได้ อย่างดูหนัง ท่องเที่ยว หรือกินอาหารดีๆ (แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ชอปปิ้ง!)

.

Death Cleaning จึงอาจจะไม่ได้ดีต่อคนที่เหลืออยู่ข้างหลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นโอกาสให้เราทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นและความทรงจำต่างๆ ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา อะไรดีก็เก็บไว้ อะไรร้ายก็ทิ้งไป

Powered by MakeWebEasy.com