ปฏิบัติธรรม วัดผลอย่างไร

Last updated: 16 ต.ค. 2560  |  576 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปฏิบัติธรรม วัดผลอย่างไร


เมื่อเราได้ทุน และเครื่องประกอบในการเดินทางแล้ว ต่อไปนี้ ก็จะเข้าสู่การเดินตามมรรค


ได้บอกแล้วว่า ตัวทางที่เดินก็คือ มรรค มรรคมีองค์ ๘ ประการ อันนี้ทราบกันแล้ว ไม่ต้องบรรยายในรายละเอียด และก็ได้บอกแล้วด้วยว่า การฝึกชีวิตให้ดำเนินตามมรรค หรือการทำตัวให้เดินไปตามมรรคนั้นคือสิกขา หรือการศึกษา .

ทีนี้ต่อไป ก็จะพูดถึงการตรวจสอบหรือวัดผล เมื่อกี้นี้ได้บอกให้ตรวจสอบด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเองโดยดูว่า โลภ โกรธ หลง มีน้อยหรือมาก ได้ลดละให้เบาบางหรือหมดไปหรือยัง แต่นั้นเป็นการตรวจสอบ โดยพูดเชิงลบแบบรวบรัด

.

ก) ดูที่กุศลธรรมที่เพิ่มขึ้น

.

โดยทั่วไปมีการวัดด้วยคุณธรรมต่างๆ ที่งอกงามขึ้นมาแทนอกุศลธรรม คือจะต้องดูว่า กุศลธรรมเจริญขึ้นมาแทนที่อกุศลธรรมแค่ไหน หลักการวัดความเจริญในการเดินตามมรรค หมวดหนึ่งมี ๕ อย่าง

.

ประการที่ ๑ ดูว่ามีความมั่นใจ มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นความดีงามมากขึ้นหรือไม่ มีความมั่นใจแม้แต่ในโพธิสัทธา เชื่อในศักยภาพของตนเองที่จะพัฒนาขึ้นไปหรือไม่ เมื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้นก็เรียกว่า มี ศรัทธา มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลธรรมที่เจริญเพิ่มขึ้น โดยสรุป คือดูว่ามีศรัทธามีความเชื่อมีความมั่นใจในกุศลธรรมในความดีงามต่างๆ มากขึ้นหรือไม่

.

ประการที่ ๒ เมื่อปฏิบัติเดินตามมรรคไป มีระเบียบในการดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มีการประพฤติตนอยู่ในสุจริตดีขึ้นไหม อันนี้เป็นส่วนที่แสดงออกภายนอกในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น ต้องเอามาวัดดูด้วยว่าเราดำเนินชีวิตดีขึ้นไหม มั่นคงในสุจริตมากขึ้นไหม มีระเบียบวินัยราบรื่นดีไหม มีความสัมพันธ์กับโลกกับมนุษย์กับสังคมดีขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่า มี ศีล ดีขึ้นไหม

.

ประการที่ ๓ ดูว่าเรามีความรู้จากการที่ได้สดับได้ค้นคว้าอะไรต่างๆ มากขึ้นไหม ได้เรียนรู้มากขึ้นและกว้างขวางเพียงพอไหมในธรรมที่จะปฏิบัติต่อๆ ไป หรือในสิ่งที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา หรือในการพัฒนาตน ได้ประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นข้อมูลของความรู้มากขึ้นหรือไม่ เรียกสั้นๆ ว่ามี สุตะ มากขึ้นไหม

.

ประการที่ ๔ มีความลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม กิเลสต่างๆ โดยเฉพาะความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัวนี่ละได้ มีความเห็นแต่ตัวน้อยลงบ้างไหม มีความเสียสละมากขึ้นไหม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่เพื่อนมนุษย์เห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้นไหม มีจิตกว้างขวางโปร่งเบามากขึ้นไหม เรียกสั้นๆ ว่ามี จาคะ มากขึ้นไหม

.

ประการสุดท้าย คือ ปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจในความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตรวจสอบว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไหม เรารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงมากเพียงใด เรามองเห็นเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายชัดเจนดี สามารถนำความรู้มาเชื่อมโยงใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์พัฒนาให้เป็นผลดีหรือไม่ อันนี้เป็นตัวแกนแท้ที่ต้องการ เป็นตัวคุมทั้งหมด

.

ตกลงว่า หัวข้อนี้ก็เป็นหลักหนึ่งในการตรวจสอบความเจริญ คือดูว่ามีศรัทธามากขึ้นไหม มีศีลมากขึ้นไหม มีสุตะมากขึ้นไหม มีจาคะมากขึ้นไหม และมีปัญญามากขึ้นหรือไม่

.

หลักนี้เรียกว่า “อริยวัฒิ” แปลว่า ความเจริญของอริยชน ความเจริญแบบอารยะ ได้แก่ หลักวัดความเจริญหรือพัฒนาการของอารยชน

.

ถ้ามีความเจริญเพียงว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้นอย่างเดียว แต่มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น อย่างนั้นไม่ถือว่ามีความเจริญในการศึกษา หรือในการพัฒนาชีวิตที่แท้จริง หรือมีโทสะมีความเกลียดชังมีกิเลสต่างๆ มากขึ้นก็เช่นเดียวกัน

.

ข) ดูการทำหน้าที่ต่อธรรมต่างๆ

.

ที่จริงหลักตรวจสอบมีหลายอย่าง หลักอย่างหนึ่งเป็นการดำเนินตามอริยสัจ ๔ กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมนั้นได้แก่การดำเนินตามหลักการแก้ปัญหาด้วยวิธีการของอริยสัจ ๔ ในการปฏิบัติจึงต้องดูว่าเราปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจ ๔ ถูกต้องหรือไม่

.

อริยสัจ ๔ มีหน้าที่ประจำแต่ละข้อ ถ้าปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ แต่ละข้อผิด ก็ถือว่าเราได้เดินทางผิดแล้ว

.

อริยสัจข้อที่หนึ่ง ทุกข์ คือตัวปัญหา เรามีหน้าที่ต่อมันอย่างไร หน้าที่ต่อปัญหาหรือความทุกข์ ก็คือหน้าที่ที่เรียกว่าทำความรู้จัก ท่านเรียกว่า กำหนดรู้ รู้จักว่ามันคืออะไร อยู่ตรงไหน มีขอบเขตเพียงใด เราจะแก้ปัญหา เราจะแก้ความทุกข์ เราต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร ปัญหาของเราคืออะไร ขอบเขตของมันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นที่ตั้งของปัญหา ถ้าจับไม่ถูกแล้วก็เดินหน้าไปไม่ได้ จับตัวปัญหาให้ได้เสียก่อน แล้วก็เรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหานั้นทั้งหมด

.

เราไม่มีหน้าที่ที่จะไปสร้างปัญหา เราไม่มีหน้าที่ไปเอาปัญหามาวุ่นวายใจ มาเก็บมากังวลใจมาทำให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีหน้าที่ทุกข์ แต่เรามีหน้าที่รู้จักทุกข์ นี้เป็นประการที่หนึ่งคือรู้จักปัญหา ตามที่เป็นจริง

.

อริยสัจข้อที่สอง สมุทัย คือเหตุของทุกข์ เรามีหน้าที่อย่างไร หน้าที่ที่จะต้องทำต่อสมุทัย ก็คือสืบสาวค้นหามันให้พบ ให้รู้ว่ากระบวนการที่มันเกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วละมันให้ได้ แก้ไขกระบวนการให้สำเร็จ คือกำจัดสาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของความทุกข์ ไม่ใช่กำจัดปัญหา ปัญหานั้นเรากำจัดมันไม่ได้ เราแก้ปัญหาด้วยการกำจัดเหตุของมัน

.

อริยสัจข้อที่สาม นิโรธ คือความดับทุกข์ การแก้ปัญหาสำเร็จ หรือภาวะปราศจากปัญหา เป็นความมุ่งหมายการแก้ปัญหาสำเร็จคืออะไร จุดหมายที่ต้องการคืออะไร เป็นสิ่งที่เห็นไปได้หรือไม่ กระบวนการแก้เป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่ามันคืออะไร และเป็นไปได้แล้ว เราก็มีหน้าที่ต่อมันคือ บรรลุถึง หรือ เข้าถึง แต่การที่จะเข้าถึงมัน คือจะเข้าถึงจุดหมายก็ดี จะกำจัดสาเหตุของปัญหาก็ดี แก้ปัญหาได้ก็ดี จะต้องไปสู่ข้อสุดท้ายคือ มรรค

.

อริยสัจข้อที่สี่ มรรค มรรคเป็นทางเดินก็คือ ข้อปฏิบัติ ซึ่งเรามีหน้าที่คือ ลงมือทำ เป็นข้อสุดท้าย ต้องลงมือทำตั้งแต่บุพนิมิตของมรรคเป็นต้นไปทีเดียว

.

ธรรมทั้งหมด จัดเข้าในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งสิ้น

.

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ตามที่สัมพันธ์กับมนุษย์ หรือที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้องประเภทหนึ่งนั้น จัดเข้าในจำพวกที่เรียกว่าทุกข์ เป็นปัญหาและสิ่งที่ต้องเผชิญ

.

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สองจัดเข้าในจำพวก ที่เป็นสาเหตุของปัญหา

.

- สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ประเภทที่สามจัดเข้าในจำพวก จุดหมาย หรือสิ่งที่พึงประสงค์ และ

.

- สิ่งทั้งหลายประเภทที่สี่ จัดเข้าในจำพวก ที่เป็นวิธีปฏิบัติ

.

และเรามีหน้าที่ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง อย่างที่หนึ่งทำความรู้จักกำหนดให้ถูก อย่างที่สองกำจัดสาเหตุ อย่างที่สามคือเข้าถึงจุดหมาย แล้วอย่างที่สี่ ก็ลงมือทำหรือลงมือเดินทาง

.

หลักการนี้ก็ใช้ในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน คือ ในเวลาที่ไปเกี่ยวข้องกับธรรม ก็ควรจะจัดให้ถูกต้องด้วยว่าธรรมนั้นอยู่ในประเภทไหนใน ๔ ข้อนี้ เมื่อจัดเข้าถูกต้องแล้ว เราก็จะปฏิบัติถูกหน้าที่ว่าหน้าที่ต่อข้อนั้นคืออะไร

.

ธรรม ๔ ประเภทนั้น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะตามหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อมัน คือ

.

๑. สิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์เป็นปัญหาเป็นที่ตั้งของปัญหา หรือเป็นจุดเกิดปัญหา เมื่อมนุษย์ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เรียกว่า ปริญไญยธรรม คือสิ่งที่จะต้องกำหนดรู้ หรือ ทำความรู้จัก

.

ตัวอย่าง เช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิต โลก ความผันผวนปรวนแปร โศกเศร้า ผิดหวัง ความรู้สึกสุข หรือ ทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด ความจำ ความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ (ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ไตรลักษณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

.

๒. สิ่งทั้งหลายที่เป็นจำพวกเหตุก่อทุกข์ หรือ สาเหตุของปัญหา เรียกว่า ปหาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องละเลิก แก้ไข กำจัด

.

ตัวอย่าง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเห็นแก่ตัว ความถือตัว ความเย่อหยิ่ง ความเกียจคร้าน ความเกลียดชัง ความริษยา ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความเฉื่อยชา ความฟุ้งซ่าน ความระแวง ความประมาท ความโง่เขลา ฯลฯ (อกุศลมูล กิเลส ตัณหา มานะ ทิฎฐิ อวิชชา อุปาทาน สังโยชน์ นิวรณ์ และธรรมอื่นทำนองนี้)

.

๓. สิ่งทั้งหลายที่พึงประสงค์ เป็นจุดหมายที่ควรทำให้สำเร็จ หรือควรได้ควรถึง เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องเข้าถึง หรือ ประจักษ์แจ้ง

.

ตัวอย่าง เช่น ความสงบ ความร่มเย็น ความบริสุทธิ์ ความปลอดโปร่งโล่งเบา ความผ่องใส ความเบิกบาน ความไร้ทุกข์ ความสุขที่แท้ สุขภาพ ภาวะปลอดพ้นปัญหา ความเป็นอิสระ หรืออิสรภาพ ฯลฯ (วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน และธรรมอื่นทำนองนี้)

.

๔. สิ่งทั้งหลายที่เป็นข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ต้องทำต้องบำเพ็ญเพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม คือ สิ่งที่จะต้องทำให้มีให้เป็นขึ้น ให้เจริญงอกงามเพิ่มพูนขึ้น หรือต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ

.

ยกตัวย่าง เช่น เมตตา ไมตรี หรือ มิตรภาพ กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ ความขยันหมั่นเพียร ความมีกำลังใจ ฉันทะ ศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา สัมปชัญญะ ฯลฯ (มรรค ไตรสิกขา สมถะ วิปัสสนา และ ธรรมอื่นทำนองนี้)

.

รายละเอียดของธรรม ๔ ประเภท หรือการจัดประเภทสิ่งทั้งหลายในโลกมีอย่างไร จะไม่กล่าวในที่นี้ แต่พูดง่ายๆ ว่า หลักนี้ท่านให้ใช้ในการตรวจวัดผลสำเร็จในการศึกษาหรือการปฏิบัติธรรมว่า

.

- สิ่งที่ควรกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้หรือรู้จักแล้วหรือไม่

.

- สิ่งที่ควรแก้ไขกำจัด เราได้แก้ไขกำจัดแล้วหรือยัง

.

- สิ่งที่ควรประจักษ์แจ้ง เราได้ประจักษ์แจ้งแล้วแค่ไหน และ

.

- สิ่งที่ควรปฏิบัติจัดทำให้เกิดให้มีขึ้นจนบริบูรณ์ เราได้ปฏิบัติจัดทำแล้วเพียงใด

.

ค) ดูสภาพจิตที่เดินถูกระหว่างทาง

.

ในการปฏิบัติธรรม คือ ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง หรือ ฝึกฝนพัฒนาตนไปนั้น ระหว่างการปฏิบัติ พัฒนา หรือ ศึกษาไปเรื่อยๆ ควรจะสังเกตดูสภาพจิตใจของตนไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

.

ในกรณีทั่วไป ถ้าไม่มีเหตุพิเศษ เพื่อปฏิบัติถูกต้องจิตเดินถูกทางก้าวหน้าดี ก็จะเกิดมีสภาพจิตที่ดีงามสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นทั้งคุณสมบัติของจิตนั้น และ เป็นลักษณะของการปฏิบัติที่ได้ผล

.

ลักษณะของจิตที่เดินถูกทางนั้น ที่ควรสังเกตมี ๕ อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยส่งทอดต่อกันตามลำดับ คือ

.

๑. ปราโมทย์ ได้แก่ ความแช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ

.

๒. ปีติ ได้แก่ ความอิ่มใจ ความปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น

.

๓. ปัสสัทธิ ได้แก่ ความรู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่นระงับลง เย็นสบาย

.

๔. สุข ได้แก่ ความสุข ความคล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น

.

๕. สมาธิ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน

.

พอสมาธิเกิดขึ้น จิตใจก็มีสภาพเหมาะสมแก่งาน ที่ท่านเรียกว่าเป็น กัมมนีย์ พร้อมที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์พัฒนา คิดการ และเป็นที่ทำงานของปัญญา อย่างได้ผลดี และสมาธิก็อาศัยองค์ธรรม ๔ อย่างแรกนั่นแหละช่วยเกื้อหนุนและทำให้เกิดขึ้น สภาพจิต ๕ อย่างนี้ เป็นทั้งคุณสมบัติที่ดีงามโดยตัวของมันเอง และเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จึงควรพยายามทำให้เกิดขึ้น และการทำสภาพจิตเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

.

เพียงแค่ข้อที่ ๑ มีปราโมทย์ ทำใจให้แช่มชื่นเบิกบานไว้มากๆ เมื่อปราโมทย์นั้นเกิดจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง จิตเดินดีแล้ว ท่าให้ความมั่นใจว่าจะลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย (ดู คาถาธรรมบท ที่ ๓๗๖, ๓๘๑)

.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

Powered by MakeWebEasy.com