"วันนี้ไปอ่านหนังสือที่ไหนดี ?"

Last updated: 4 ก.ย. 2560  |  859 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"วันนี้ไปอ่านหนังสือที่ไหนดี?"

คำถามยอดฮิตของนักศึกษา โดยเฉพาะช่วงสอบที่จำเป็นต้องหาสถานที่เพื่อติวหนังสือกันในกลุ่มเพื่อน

ใครเคยผ่านจุดนี้คงเข้าใจว่าตัวเลือกมีน้อยนิด โดยเฉพาะห้องสมุดที่ปิดไวเหลือเกิน

น่าคิดว่าเรามีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้คนนั่งอ่านหนังสือ ทำงาน หรือประชุม อยู่สักกี่แห่ง หากพูดถึงห้องสมุดที่เป็นสถานที่ราชการ นอกจากเรื่องเวลาเปิด-ปิดแล้วยังมีข้อจำกัดในการใช้เสียง นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจร้านกาแฟได้รับความนิยมสูง เพราะสามารถเป็นที่พบปะพูดคุย นั่งทำงาน และอ่านหนังสืออย่างสบายๆ ได้

ภาพเด็กวัยเรียนนั่งฝังตัวอ่านหนังสือในร้านกาแฟช่วงวันหยุดจึงพบเห็นได้ทั่วไป

แล้วช่วงกลางคืนล่ะจะไปที่ไหน?

ปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิด "Too Fast To Sleep" ร้านกาแฟโด่งดังย่านสามย่าน เปิด 24 ชั่วโมง ตามแนวคิดของร้านที่ตั้งใจจะให้เป็น "แหล่งซ่องสุมทางปัญญา" สำหรับคนที่ต้องการหาที่นั่งอ่านหนังสือนอกบ้านยามค่ำคืน

เอนก จงเสถียร เป็นที่รู้จักในนามนักธุรกิจ ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหารรายใหญ่ แต่อีกมุมหนึ่ง เขาคือเจ้าของร้าน Too Fast To Sleep

"ทำธุรกิจได้เงิน แต่เราต้องคืนให้สังคมโดยสร้างคนดีกว่าไหม นี่คือการสร้างคนโดยมีที่ให้เด็กดูหนังสือ" ประโยคแรกของเอนกเมื่อเขาพูดถึงร้าน

และยิ่งต้องแปลกใจเมื่อเขาบอกว่าร้านนี้ขาดทุนประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือน การเปิดร้าน 24 ชั่วโมง ยิ่งเพิ่มค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ และค่าเช่าที่เป็นค่าใช้จ่ายหลัก เพื่อให้ได้พื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) สามารถรองรับคนที่มานั่งอ่านหนังสือได้มาก

ร้านนี้จึงมีเด็กนักศึกษาหอบหนังสือ หอบผ้าผ่อนมานั่งอ่านหนังสือตลอดค่ำคืน โดยเฉพาะช่วงสอบ

ตรงตามความตั้งใจของเอนกที่อยากจะสร้าง "แหล่งซ่องสุมทางปัญญา"

วัยเด็กเอนกเริ่มเรียนที่โรงเรียนเปรมฤดีศึกษา แล้วต่อ ปวช.ที่เกริกวิทยาลัย

เขาบอกว่าตัวเองเป็นคนเกเรในเรื่องเรียน ไม่ค่อยอ่านหนังสือสอบ แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขากลับมาตั้งใจกับการศึกษา

พออายุ 18 พ่อส่งให้เขาไปเรียนต่อด้าน Business Study ในระดับ ปวช. ที่ "Farnborough College of Technology" ฟาร์นโบโรห์ เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของสหราชอาณาจักร

"ผมเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ไปเรียนที่นั่น คนแรกไปเรียนก่อนผม 50 ปี"

เอนกหัวเราะแล้วเล่าต่อ

"ผมไปเปลี่ยนนิสัยที่อังกฤษ คุณเชื่อไหมอาจารย์สอน 3 ชั่วโมง เขียนกระดาน 3 ตัว ผมก็จดแค่นั้น เพราะไม่รู้เรื่อง ไปถึงเข้าเรียนเลย พูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย เลิกเรียนเลยมานั่งดูหนังสือ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนทุกวัน 3 ทุ่มดูข่าวภาษาอังกฤษแล้วกลับมาดูหนังสือต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ไม่เว้น จนเพื่อนอินโดนีเซียที่ไปเรียนด้วยกันบอกว่าเป็นหนอนหนังสือ เก่งมาก ที่จริงไม่ใช่ เพราะพวกนั้นภาษาอังกฤษเขาดี"

ปี 2519 หลังเรียนไปได้ 2 ปี จบหลักสูตรเทียบเท่าระดับ ปวช. เอนกกลับมาเยี่ยมบ้าน ขณะที่ธุรกิจที่บ้านกำลังเผชิญปัญหา หัวหน้างานที่ติดต่อด้านต่างประเทศออกจากงาน พ่อเขาจึงให้กลับมาช่วยงานที่บ้านและทำงานเรื่อยมา โดยไม่ได้กลับไปเรียนที่อังกฤษอีกเลย

หลังทำงานต่อเนื่องมาหลายสิบปี เขากลับมาเรียนปริญญาตรีบริหารธุรกิจในวัย 40 กว่า ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และปริญญาโท 2 ใบ ด้านกฎหมายเศรษฐกิจ และบริหารธุรกิจ ที่จุฬาฯ

วันนี้ในวัย 60 แม้เขาจะบอกว่าตัวเองเกษียณแล้ว แต่คำบอกเล่าจากปากเอนก เป็นสิ่งยืนยันว่าเขาคงไม่หยุดง่ายๆ เพราะยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อยู่ในหัวนักธุรกิจคนนี้เสมอ

จุดเริ่มต้นในการทำร้าน?

ทำธุรกิจได้เงิน แต่เราต้องคืนให้สังคมโดยสร้างคนดีกว่าไหม นี่คือการสร้างคนโดยมีที่ให้เด็กดูหนังสือ สี่ทุ่มไปแล้วกรุงเทพฯไม่มีที่อ่านหนังสือแล้ว มีแต่ที่กินเหล้า เด็กออกจากบ้านไปไหนนอกจากกินเหล้า เราฝืนไม่ได้ บอกว่าสี่ทุ่มต้องอยู่บ้าน เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราต้องทำ ในเมื่อเขาจะไป ทำไมต้องมีแต่ที่กินเหล้า เราก็ทำที่ให้เขาอยู่ได้แบบนี้ นี่คือไอเดียคอนเซ็ปต์

เปิดมาแล้วมีคู่แข่งเยอะไหม?

มีคนถามหลายครั้งตั้งแต่เปิดใหม่ๆ ว่าไม่กลัวคู่แข่งเหรอ ผมขอร้อง อยากทำเปิดเลย อยากให้เปิดเยอะๆ หน่วยงาน สถานศึกษาควรจะเปิดเองแต่จะติดเงื่อนไขเยอะไปหมด ไม่เหมือนเอกชน ทำง่าย ผมเอาใจทำ ไม่ได้หวังกำไร ดังนั้นทำตรงนี้ขาดทุนเดือนละสองแสน ผมเฉยๆ มีรายได้ที่อื่นมาเลี้ยงสบายๆ ราชการทำขาดทุนแล้วโดนสอบ แต่เจ้าหน้าที่ผมเงินเดือนเกือบ 3 หมื่น เขามาบริการคน เราตั้งใจทำอย่างนี้

อยากให้กระตุ้นหน่วยงานอื่นที่มีเงิน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่สร้างซีเอสอาร์เยอะแยะ อยากให้สร้างแบบนี้ เรียกว่า "โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรซ์" คือธุรกิจสำหรับสังคม ไม่ได้หวังกำไร ตั้งใจขาดทุนเลย ที่นี่พนักงานห้ามออกจากเคาน์เตอร์ไปขายของ อยากกินก็เดินมาซื้อเอง ที่นี่เป็นที่ดูหนังสือ แต่เรามีซัพพอร์ตน้ำ อาหาร ไม่ใช่ว่าคุณไม่ซื้อน้ำไม่ให้คุณเข้า อ่านหนังสือแล้วหิวเมื่อไหร่ก็เดินมาซื้อ ผมบริการ พนักงานเคาน์เตอร์มีหน้าที่อย่างเดียวคือไปเก็บของที่กินเสร็จแล้ว

เด็กมีสมาธิในการดู เราต้องให้เขา ที่นี่ไม่ขายของ จนหลายคนบอกว่าบริการที่นี่ห่วยมาก เราต้องยอมรับ เพราะผมไม่ขายของ คุณต้องมาซื้อ คนถามว่าไม่มีเงินมาได้ไหม มาเลย ใครอยากทำอะไรมานั่งอ่านเลย ไม่ต้องซื้ออะไร ร้านผมแบ่งเป็น 3 โซน เกือบ 3 พัน ตร.ม.

ทำไมถึงให้ความสำคัญกับที่อ่านหนังสือ?

วิธีการคิดทำธุรกิจ ต้องมองว่าทำเพื่ออะไร ที่ผมทำตรงนี้เพราะเกิดจากตัวเองไปเรียนหนังสือ หาที่ดูหนังสือยากมากเลย ผมเรียนหนังสือตอนแก่ ปริญญาตรี อายุ 40 กว่า ไม่มีที่ติวหนังสือ ใช้ออฟฟิศเป็นที่ติวหนังสือจนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ประเทศไทยไม่มีที่ให้ติวหนังสือ ไปนั่งที่ไหนเดี๋ยวก็ปิด จนคิดว่าต้องทำตรงนี้ ได้ที่ตรงนี้ให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน นั่งเอกเขนกสบาย นอนสบาย เครียดหลับไป ตื่นมาดูต่อได้ ถ้าอยู่บ้านจะหลับจริง แต่อยู่นี่หลับจริงไม่ได้ อายเขา (หัวเราะ) อยู่บ้านนอนอย่างเดียว

ตอนนี้หลายฝ่ายต้องเปลี่ยน ผู้ใหญ่หลายคนต้องยอมรับในความเป็นจริง ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน บอกว่าทำอย่างนี้แล้วทำให้เด็กไม่ยอมนอนตอนกลางคืน เด็กสมัยนี้บังคับไม่ได้ ต้องปล่อยไป อยากดูตอนไหนให้ดูไป แล้วเขาหิวเมื่อไหร่จะวิ่งลงหาอะไรกินเอง ที่นี่เหมือนกัน ผมจับประเด็นนี้เลย มีซาลาเปา ขนมปังปิ้ง อยากได้หนักๆ วิ่งลงมากินข้าวมันไก่โก๊ะตี๋ ให้เขาเปิดตลอด 24 ชม. ตอนกลางคืนขายได้ไม่กี่จาน เขาขาดทุน ค่าคนงานยังไม่พอเลย แต่ก็ต้องเปิด เด็กหิวเมื่อไหร่ต้องมีกิน เขาเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์ผม

กระแสตอบรับเป็นอย่างไร?

วันที่เปิดร้านวันแรก 10 ม.ค. 2554 ไม่มีโฆษณา คนมาไม่เยอะ แต่เพียง 2 วันเท่านั้นแหละคนรู้จัก เด็กมหาลัยทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รังสิต เอแบค ทุกคนรู้จักเร็วมาก เพราะว่ามันคือสิ่งที่เขาต้องการ แน่นมาก นั่งตามบันไดเต็มทาง กลายเป็นว่าเด็กไม่มีที่ดูหนังสือ ต้องรีบขยายร้าน แต่ต้องเข้าใจว่าเด็กไม่มีตังค์ ผมขายน้ำแพงแก้วละ 80 บาท แต่ไม่ได้บังคับซื้อ เด็กบางคนจ่ายได้ แต่เด็กไม่มีตังค์มานั่ง เราก็ไม่ว่า ไม่มีก็คือไม่มี ผมมีอาหารขายที่นี่จานละร้อย แล้วทำไมผมต้องมีข้าวมันไก่ข้างล่างจานละ 40 บาท

ก็เพราะให้เด็กที่ไม่มีเงินด้วย

ผมคิดว่าเราไม่ต้องให้ทุนการศึกษาหรอก ให้ที่เค้า เด็กพร้อมจะดูหนังสือเยอะแยะ พอทำปุ๊บเต็มตลอด โดยเฉพาะช่วงสอบ ตอนแรกเปิดร้านเด็กไปบอกว่าดูหนังสือที่นี่ถึงเช้า พ่อแม่แอบมาดูลูกว่าอ่านหนังสือจริงหรือเปล่า ที่นี่มีกล้องวงจรปิดร้อยกว่าตัว มีที่นั่งสบายๆ บางคนเอาผ้าห่มมาเอง บางคนใส่ชุดนอนมาเลย นี่คือสิ่งที่ผมบอกว่า เราทำไม่ได้หวังกำไร ต้องแยกว่า โซเชียลเอ็นเตอร์ไพรซ์เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ธุรกิจ แต่มีเงินสนับสนุนจากบริษัทผมเอง ค่าก่อสร้างประมาณ 30 ล้าน แล้วแต่ละปีต้องใช้เงินประมาณ 3 ล้าน

ตอนบอกว่าจะทำ ลูกผมดีใจมาก ตอนเขาเรียนหนังสือเขาก็ไม่มีที่ดูหนังสือ ทุกวันนี้ขาดทุน แต่ในใจผมรู้สึกว่าได้กำไร ผมใช้เงินตรงนี้มีความสุขมาก อยากให้องค์กรใหญ่ๆ ทำเลย หอการค้าจังหวัด สร้างจังหวัดละแห่งเลยก็ได้

คิดอย่างไรกับผลวิจัยที่บอกว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย?

คนไทยอ่านหนังสือน้อย จริง เค้าหมายถึงอ่านหนังสือ แต่ทุกวันนี้เขาอ่านบนอินเตอร์เน็ต จากมือถือ อ่านจนตาแฉะ เด็กเขาอ่านจากคอมพิวเตอร์ แต่ที่สำคัญคือไม่มีที่ให้อ่าน

ทุกมหาวิทยาลัยควรจะเปิดที่อย่างนี้ 24 ชม.

วันนี้ห้องสมุดมหา"ลัยปิดเที่ยงคืน แล้วเงียบด้วย อยากไปมั้ย ก็ไม่ ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์คนไทยเวลาดูหนังสือ ไม่เหมือนฝรั่ง เขาตัวใครตัวมัน ไม่ดูหนังสือด้วยกัน อ่านหนังสือเงียบกริบ ของเราไม่ใช่ ต้องติวหนังสือด้วยกัน ฝรั่งดูหนังสือในห้องสมุดเงียบๆ ได้ คุณต้องเข้าใจว่าอ่านหนังสือมีโต๊ะอย่างเดียวไม่ได้

ต้องมีบรรยากาศที่น่านั่ง "ฟีล ไลค์ โฮม" (ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน)

หากสามารถสร้างสถานที่อ่านหนังสือเยอะๆ จะส่งผลอย่างไรบ้าง?

คนไทยจะเก่งขึ้นอีกเยอะ อาชญากรรมน้อยลง ท้องก่อนวัยอันควรลดลง เมืองไทยท้องก่อนวัยอันควรปีละ 2 แสนกว่าคน ในจำนวนนั้น 10 เปอร์เซ็นต์ อายุต่ำกว่า 15 แปลว่า 2 หมื่นกว่าคน แล้วเด็กออกมามีคุณภาพไหม แต่ถ้ามีเวลาที่อ่านหนังสือแบบนี้ ไฟสว่างโร่ ต้องเข้าใจว่าเวลากินเหล้ากับเวลาอ่านหนังสืออารมณ์มันต่างกัน เมื่อสติไม่มีก็ไปอีกทางหนึ่ง นี่คือความแตกต่างกัน เราจะช่วยได้เยอะแยะหมด ประเทศไทยไม่ควรมีที่นี่ที่เดียว ควรมีทั้งประเทศ คุณทำซีเอสอาร์ ทำอะไร ปลูกต้นไม้ คือโอเคถ้าเราไม่โค่น เราก็ไม่ต้องปลูก ถ้าคนมีความรู้จะโค่นไหม สิงคโปร์ไม่มีอะไรเลย แต่วันนี้ต้นไม้ร่มรื่น เพราะคนรักต้นไม้ ทำนองเดียวกัน ทำไมเราไม่สร้างคน

ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐไหม?

รัฐบาลควรจะทำมั้ย ควรจะทำ แต่ผมไม่เชื่อรัฐ เจ้าหน้าที่เป็นลูกจ้าง เรื่องวิธีคิดไม่เหมือนกัน มหา"ลัยเองติดปัญหาเรื่องนี้ อาจต้องลงทุนสร้างแล้วจ้างเอกชนบริหาร มหาวิทยาลัยมาชวนผมไปเปิดเยอะ ไปถึง คุยเรียบร้อย เจอคำถามว่า ใช้เงินเท่าไหร่ 10 ล้าน สัญญาต้อง 10 ปี คือขาดทุน 10 ปีนะ

ผมอยากทำให้มันเดินมาอย่างนี้ แล้วอนาคตจะเปลี่ยนยาก ถ้ามีที่นั่งดูหนังสือฟรีแล้วอยู่ๆ ไปเก็บตังค์

นักเรียนประท้วงนะ มหา"ลัยบอกว่าให้แค่ปีเดียว ผมไม่เอาหรอก เอาเงินลงทุน 10 ล้านไปแจกเด็กง่ายกว่า

คำถามที่สองคือ ถามว่ามหาวิทยาลัยได้อะไร ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าถามว่านักเรียนได้อะไร ผมตอบได้ อาจารย์คิดเพื่อมหาวิทยาลัยหรือนักเรียน

หลายแห่งเรียกไป พอเข้าบอร์ดทีไรร่วงทุกที เพราะมหา"ลัยต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ค้านคนเดียวเลิกเลย และส่วนใหญ่ไม่อยากให้เด็กดูหนังสือกลางคืน อย่างมหา"ลัยล่าสุดให้ที่ 4 ไร่เลย คุยเรียบร้อย ลงทุน 50 ล้าน มี Activity Hall ข้างบนเป็นที่ดูหนังสือ ผมขออย่างเดียวมีที่ขายข้าวมันไก่ เพราะต้องให้เด็กมีข้าวกิน 24 ชม. มหา"ลัยบอกว่าเปิดถึงเที่ยงคืนได้มั้ย ผมถามว่าเที่ยงคืนแล้วไปไหน

เด็กโดนไล่กลับ เขาก็ต้องไปที่อื่นต่อ ทีหลังเขาก็ไม่มาเพราะนั่งแป๊บเดียวก็ต้องกลับ กลายเป็นว่ามหา"ลัยไม่สนับสนุนให้เด็กดูหนังสือตอนกลางคืน อยากให้ตื่นเช้ามาดูหนังสือมากกว่า

ทำไมเสนอไปทำให้มหาวิทยาลัยแล้วไม่ผ่าน?

ข้าราชการไม่เคยเชื่อว่า พ่อค้าทำประโยชน์เพื่อราชการ คิดว่าต้องเอาประโยชน์ เขาไม่เชื่อว่าพ่อค้าจะไม่เอากำไร มองว่าจะเอาเปรียบราชการ ตอนนี้มหา"ลัย 5 แห่งคุยไปแล้ว ไม่ได้สักที่ ไปจนสถาปนิกเบื่อผมแล้ว เงื่อนไขผมคือ เปิด 24 ชม. แอร์เย็นเจี๊ยบ ไฟสว่าง กล้องวงจรปิดเพียบ ที่นั่งสบาย ให้เหมือนลูกผมมาอยู่ ระยะสัญญาใจต้อง 10 ปีขึ้น ไม่ได้หวังกำไร จะปลูกฝังรุ่นต่อรุ่น อาคารนี้เป็นอย่างนี้แล้ว มีใครเปลี่ยนประท้วงแน่นอน พอติดแล้วจบเลย ที่นี่ทำสบายมากมีความสุขมาก

ผมไม่เคยเก็บเงินให้ลูก สอนลูกว่า คนเราตายไปสลึงหนึ่งยังเอาไปไม่ได้เลย อยากให้เงินลูกเหมือนกัน แต่มีเยอะแยะที่ใช้เงินไม่เป็น สู้เราให้ความรู้ ให้เขาหาเงินเองเป็น ไม่มีทางผลาญเงินหมด สิ่งที่เราให้ทุกวันนี้คือเรียนหนังสือ อยากเรียนอะไร เรียนเลย

Powered by MakeWebEasy.com