ถอดความปาฐกถา "เปลี่ยนความตายให้เป็นความสุข"

Last updated: 5 ก.ค. 2560  |  653 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถอดความปาฐกถา "เปลี่ยนความตายให้เป็นความสุข"

โดยพระไพศาล วิสาโล

จากปาฐกถาพิธีเปิดงาน Happy Deathday

ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560

ถอดความโดย กองสาราณียกร อาทิตย์อัสดง



HIGHLIGHTS:

• คนส่วนใหญ่ทุกข์ทรมานเมื่อต้องเผชิญกับความตาย เพราะความกลัวตาย ทำให้ตายไม่ดี แต่ถ้าพร้อมตาย การตายดีย่อมเป็นไปได้

• 5 เหตุผลที่ทำให้พร้อมตาย

1. เห็นว่าความตายมีประโยชน์

2. ได้ทำความดีและทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว

3. ได้ปล่อยวางทุกอย่าง

4. เห็นความตายเป็นหน้าที่

5. กระบวนการรักษาที่ช่วยลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย



• “แฮปปี้เดธเดย์” สำคัญกว่า “แฮปปี้เบิร์ธเดย์”

หลายคนที่เข้ามาในงาน “Happy Deathday” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 10-11 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา คงจะรู้สึกสงสัยความหมายของชื่องานว่า ความตายจะกลายเป็นความสุขได้จริงหรือ เพราะแม้แต่พระพุทธองค์ยังตรัสว่า “ความตายเป็นทุกข์” ไม่มีใครหลีกพ้น แต่ตามคำสอนของพุทธศาสนา ความตายแม้จะทำให้ทุกข์กาย แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกข์ใจ ดังมีพุทธพจน์ว่า "บุญย่อมทำให้เกิดสุขในยามสิ้นชีวิต" และ "ผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ" เป็นเครื่องรับรองว่า ในความตายเป็นโอกาสแห่งความสุขได้เช่นกัน

 
พระไพศาล วิสาโล หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกการขับเคลื่อนเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบในสังคมไทยเมื่อ 13 ปีก่อน กล่าวในปาฐกถาเปิดงาน “Happy Deathday” ว่า

“การที่คนส่วนใหญ่ทุกข์ทรมานเมื่อต้องเผชิญหรือแม้เพียงได้ยินเรื่องความตาย เพราะมีความกลัว แต่ถ้าใครเข้าใจความตายดีพอ จะพบว่าความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย และความตายจะไม่ทำให้ทุกข์ใจเลย หากเปลี่ยนความกลัวตายให้เป็นความพร้อมตาย ยอมรับความตาย”

ความกลัวตาย ทำให้ตายไม่ดี แต่ถ้าพร้อมตาย การตายดีย่อมเป็นไปได้

พระไพศาลเห็นด้วยกับคำพูดของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า การตายดีคือ "เต็มใจและพอใจที่จะตาย" เมื่อใดที่เราเต็มใจและพอใจที่จะตาย ความตายจะไม่เป็นความทุกข์อีกต่อไป

5 เหตุผลที่ทำให้พร้อมตาย

พระไพศาลเห็นว่า การที่คนเราจะเต็มใจ พอใจ และพร้อมจะตายได้นั้น มีเหตุผลหลายประการ ได้แก่

ประการแรก "เห็นว่าความตายมีประโยชน์" คือ เป็นโอกาสที่จะบรรลุธรรม ดังท่านอาจารย์พุทธทาสเรียกช่วงเวลาใกล้ตายว่า “นาทีทองของชีวิต” เพราะความตายมาแสดงธรรมให้เห็นว่า ชีวิตไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน จนทำให้หลายคนเกิดปัญญา รู้ว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด จนจิตหลุดพ้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ ความตายจึงมีอำนาจที่สามารถผลักให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ “เหมือนแรงโน้มถ่วงที่พยายามดึงดูดสิ่งต่างๆ ให้ตกลงสู่พื้นโลก แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พบว่า สามารถใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นแรงเหวี่ยงให้ยานอวกาศหลุดออกไปจากอำนาจแรงดึงดูดของโลกพุ่งตรงไปสู่ดวงจันทร์ได้” เป็นโอกาสที่จะได้ผลักและปลดวางภาระเสียที

ในสมัยพุทธกาล พระอนุรุทธะตอบคำถามโจรที่มาปล้นและจะฆ่าท่านว่าทำไมถึงไม่กลัวตาย “เราไม่กลัวความตาย เหมือนคนไม่กลัวที่จะวางภาระลง” หรือพระสารีบุตรกล่าวว่า “เราไม่ยินดีต่อชีวิตและความตาย รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานฉันนั้น” เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้รับรางวัล ดังที่พระสารีบุตรกล่าวว่า “ความตายเราก็ไม่ได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เรารอฆ่าเวลา เหมือนคนรับจ้างทำงานเสร็จแล้วรอรับค่าจ้าง”

หรือซีอีโออายุ 76 ปีผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตท่านหนึ่ง ที่กำลังป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย แต่ไม่มีความกระสับกระส่ายหรือหวาดกลัวความตาย พูดว่า “ชีวิตนี้ ผมบรรลุทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการแล้ว ตอนนี้ผมกำลังรอพิธีมอบรางวัล”

ประการที่สอง "ได้ทำความดีและทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว" คือ ได้ทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์ พ่อแม่ ลูก คนรัก หรือประชาชนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ประเทศชาติเสร็จแล้ว จึงไม่มีอะไรต้องห่วงหรือเสียใจ คนที่ยังไม่ได้พบ สัมผัส หรือทำความดีต่างหาก ที่จะรู้สึกว่ายังตายไม่ได้

ประการที่สาม "ได้ปล่อยวางทุกอย่าง" ไม่มีอะไรติดค้างคาใจหรือกังวล เพราะเมื่อทำหน้าที่ที่ควรทำแล้ว การปล่อยวางจึงเป็นเรื่องง่าย

ประการที่สี่ "เห็นความตายเป็นหน้าที่" ไม่ใช่สิ่งที่ต้องบิดพลิ้ว หลีกเลี่ยง หรือผลักไส เหมือนเซลล์ต่างๆ ในร่างกายที่ตายตลอดเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้เซลล์ใหม่เกิดมา การทำหน้าที่ในฐานะลูกหรือพ่อแม่เป็นอย่างดี ยังไม่พอ ต้องเตรียมตัวทำหน้าที่ตายด้วย “สิทธิในการตายอย่างสงบ ไม่ทรมาน เป็นของทุกคน แต่มาพร้อมกับหน้าที่” ถ้าไม่ยอมรับ ไม่เตรียมตัวตาย การตายดีตายสงบย่อมเป็นเรื่องยาก

โดยการทำหน้าที่เตรียมตัวให้พร้อมตาย เริ่มด้วยการ ทำดี ละชั่ว ดังพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติก่อนๆ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยทำชั่วในที่ใดเลย จึงไม่กลัวความตายที่จะมาถึง” และ “เมื่อตั้งมั่นในธรรม ย่อมไม่กลัวปรโลก” นอกจากนี้ การเจริญมรณสติ อยู่เสมอ ระลึกถึงความตายว่าจะต้องเกิดกับเราอย่างแน่นอน แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ จะทำให้เรารู้ว่าต้องทำสิ่งที่ควรทำทันที ผัดผ่อนไม่ได้ รวมถึง การจัดการทรัพย์สิน มรดก และงานศพ ให้เรียบร้อย จะช่วยทำให้เราพร้อมตายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวตาย 4 ประการแรก เป็นการสร้างความพร้อมส่วนบุคคล สำหรับคนทั่วไปยังไม่เพียงพอ ต้องสร้างเหตุปัจจัยภายนอกหรือสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ตายดีตายสงบด้วย เช่น การทำให้คนรอบตัวยอมรับความตายของเรา ไม่ยื้อยุด ไม่ร้องไห้เวลาที่เราสิ้นลม ไม่ทำให้เราห่วงกังวล หรือสร้างบรรยากาศที่สงบ ไม่มีความวุ่นวายจนทำให้ใจกระเพื่อม โดยตัวแปรสำคัญประการที่ห้า ที่จะส่งผลต่อคุณภาพการตายของเรา คือ “กระบวนการดูแลก่อนตาย” เพราะกระบวนการดูแลในระยะสุดท้ายอาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด ทุกข์ทรมานก่อนตาย คุณภาพชีวิตแย่ลง และละเลยความต้องการในวาระสุดท้ายของเราได้

ดังข้อมูลจากนิตยสาร อีโคโนมิสต์ ฉบับ “การตายที่ดีและการตายที่เลว” (The Economist: How Life Ends) ที่มีการศึกษาพบว่า การตายแย่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลก ผู้คนในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะตายเลว ตายแย่ลง ยกตัวอย่างเช่น สองในสามของคนประเทศร่ำรวย ตายในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา ห่างไกลญาติพี่น้อง ก่อนตายต้องเจอกระบวนการทางการแพทย์ที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมากและต่อเนื่องนานนับเดือน กล่าวคือ ผู้ป่วยอยู่ในห้องไอซียูช่วง 3 เดือนสุดท้าย ต้องเจอกระบวนการใส่ท่อ และอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย เป็นต้น

สาเหตุเป็นเพราะ หนึ่ง เจอกระบวนการต่างๆ ทางการแพทย์ที่สร้างความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น มีข้อมูลว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ได้รับเคมีบำบัดแม้กระทั่งสองสัปดาห์สุดท้ายของชีวิต แม้ว่าวิธีการดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเลย หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสูงอายุได้รับการผ่าตัดใหญ่ในช่วงปีสุดท้าย ๑ ใน ๕ ถูกผ่าตัดในเดือนสุดท้าย และร้อยละ 8 ถูกผ่าตัดในสัปดาห์สุดท้าย ในขณะที่ 1 ใน 3 ของญาติผู้ป่วยในห้องไอซียู มีอาการเครียดหนัก (Post Traumatic Stress Syndrome) แสดงว่าผู้ป่วยและญาติล้วนแต่มีความทุกข์

สอง กระบวนการดังกล่าวไม่สนใจความต้องการของผู้ป่วย คือ ไม่สอบถาม ไม่อยากจะรู้ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร

พูดโดยย่อคือ ผู้คนในยุคปัจจุบัน “อยู่สบาย แต่ตายลำบากหรือตายทรมาน” ต่างจากคนยุคก่อน ที่อยู่ลำบาก แต่ตายไม่ลำบาก เพราะไม่มีกระบวนการยื้อชีวิต และได้ตายที่บ้าน ท่ามกลางคนรัก ญาติพี่น้อง จึงมีสิ่งช่วยปลอบประโลมใจ

แต่มีแนวโน้มใหม่ที่ช่วยให้ผู้คนตายดีและไม่ทุกข์ทรมานก่อนตายได้ เรียกว่ากระบวนการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มุ่งยื้อชีวิต แต่พยายามจะลดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายมากที่สุด และคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย โดยเฉพาะสิ่งที่อยากทำในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับและไม่ต่อสู้ขัดขืนความตายได้มากขึ้น

ในกระบวนการรักษาดังกล่าว การสนทนากับผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ และอาจมีอานุภาพยิ่งกว่าเทคโนโลยีเสียอีก เพราะมีการศึกษาพบว่า ถ้ามีการสนทนากับผู้ป่วยเกี่ยวกับความต้องการในระยะสุดท้าย เช่น สิ่งที่อยากให้หมอทำหรือไม่ทำ มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะตายสงบได้มากกว่า รับมือกับความทุกข์ได้ดีกว่า และลดความทุกข์ทรมานของญาติอีกด้วย

การเลือกว่าจะรับบริการทางการแพทย์แบบไหนในระยะท้าย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดว่าเราจะตายอย่างทุกข์ทรมานหรือเปล่า โดยการทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) จะช่วยให้เราเลือกได้ว่า เมื่ออยู่ในระยะท้ายแล้วตัดสินใจไม่ได้ เราต้องการการรักษาแบบไหน

“แฮปปี้เดธเดย์” สำคัญกว่า “แฮปปี้เบิร์ธเดย์”

พระไพศาลเห็นว่า “สุขสันต์วันตาย” สำคัญกว่า “สุขสันต์วันเกิด” ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ

หนึ่ง แฮปปี้เบิร์ธเดย์ไม่ได้รับประกันว่าวันหน้าจะดีหรือเปล่า แต่สำหรับชาวพุทธ ถ้าตายดี ตายมีความสุข เป็นแฮปปี้เดธเดย์ ย่อมส่งผลถึงภพหน้าคือได้ไปสู่สุคติ

สอง แฮปปี้เบิร์ธเดย์ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่มีเงินซื้อของขวัญ หาของอร่อยมากิน แต่แฮปปี้เดธเดย์ใช้เงินซื้อไม่ได้ ต้องทำสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

สาม ถ้าวันเกิดของเราไม่สุขสันต์ อย่างมากแค่เบื่อ เซ็ง หรือเหงา แต่ถ้าวันตายของเราไม่สุขสันต์ หมายถึง การจมอยู่ในความทุกข์ กระสับกระส่าย และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างยากจะทนทานได้

จะเห็นว่าผลที่ได้รับแตกต่างกันมาก ทุกคนจึงควรคิดถึงและอวยพรแฮปปี้เดธเดย์กันให้มาก และลงมือทำให้เป็นจริง ด้วยความไม่ประมาท เพลิดเพลินไปกับความสุขเฉพาะหน้า จนลืมภารกิจที่ต้องทำเพื่อเตรียมตัวให้ตายดี

“การมีอายุจนครบรอบวันเกิด ในอีกด้านหนึ่งย่อมหมายถึงการเข้าใกล้ความตายไปอีกหนึ่งปี เราจึงควรยอมรับและระลึกว่ามีเวลาเหลือน้อยแล้ว อะไรที่ควรทำให้ชีวิตมีคุณค่า ต้องรีบทำ อย่าผัดผ่อน และต้องรู้จักปล่อยวาง เปลี่ยนความทุกข์ในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ให้ได้ ไม่ว่าจะมีคนต่อว่าด่าทอ ไม่ชมเรา รถติด เงินหาย ประสบอุปสรรค เจ็บป่วย ผิดหวัง ถ้าเราทำจนคล่อง เมื่อถึงเวลาตาย เราจะเปลี่ยนความตายเป็นความสุขได้ หรืออาจเปลี่ยนความตายเป็นธรรมที่ช่วยให้จิตเราสว่างไสว จนตายสว่าง ตายอย่างมีปัญญาเห็นธรรม ซึ่งจะทำให้ความตายเปลี่ยนเป็นความไม่ตายได้ในที่สุด” พระไพศาลกล่าวปิดท้ายปาฐกถา ก่อนจะอวยพรว่า

“ขอให้แฮปปี้เดธเดย์กันทุกคน”

(Shared ต่อจาก...พี่ป้อม)

Powered by MakeWebEasy.com