เป็นคำแนะนำสั่งสอนที่ดีมาก ลองอ่านดู

Last updated: 21 มี.ค. 2560  |  428 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เราขาด “สัมมาทิฏฐิ” ข้อเดียว ปฏิบัติเท่าไหร่ เราอาจจะไม่ได้ผล หลวงพ่อชาบอกว่า เหมือนกับตักปลาในหนองที่ไม่มีปลา จะขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่ ถ้าไม่มีปลาอยู่ในที่นั้น ความเพียรก็จะเป็นหมัน


ในทำนองเดียวกัน เพียงแต่นั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียว โดยไม่ปรับความคิดเห็นก็ไม่พอ ที่วัดอาตมา มีปะขาวคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาจากไปแล้ว นั่งสมาธิเก่งมาก แต่ละวันนั่งหลายชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำความเพียรมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ผล หน้าบูดหน้าเบี้ยว ไม่เบิกบานเลย ไม่ค่อยมีเพื่อน


ทำไม เป็นอย่างนั้น เพราะเขามีมิจฉาทิฐิหลายอย่าง เช่น เขาเชื่อว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ดี เหตุผลก็คือว่า ตอนที่อยู่ที่บ้าน เขาเกิดความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจกับความไม่ยุติธรรมของสังคม ความไร้แก่นสารสาระของชีวิตในสังคม ทำให้เขาได้ออกจากบ้าน แสวงหาสัจธรรม เขาจึงเห็นว่า ความโกรธมีอานิสงส์ต่อเขามาก


ถ้าเขาไม่โกรธ ก็ไม่ได้เข้าวัด เขาบอกว่า เวลาเขาทำอะไร ขี้เกียจขี้คร้าน แต่ถ้าเขาโกรธเรื่องอะไรสักอย่าง เขาบอกว่ามีชีวิตชีวาขึ้นทันที แล้วเขาสามารถใช้พลังของ ความโกรธนั้นในการเจริญภาวนา


โกรธใครแล้ว ทำให้คนนั้นเป็นทุกข์ ปะขาวบอกว่า นั่นเป็นเรื่องของคนนั้น ไม่ใช่เรื่องของผม ผมเป็นธรรมชาติ ผมทำอะไรเป็นธรรมชาติ ความโกรธก็เป็นธรรมชาติ คนอื่นเขาจะสรรเสริญก็สักแต่ว่าสรรเสริญ นินทาก็สักแต่ว่านินทา ผมเป็นธรรมชาติ ปะขาวว่าอย่างนั้น


อาตมาค้านว่า เอ๊ะ! เรื่องธรรมชาตินี้ไม่ใช่ของดีเสมอไป เด็กเล็กๆ เขาอยากขี้ที่ไหน ก็ขี้ที่นั่น อยากจะเยี่ยวที่ไหน ก็เยี่ยวที่นั่น ธรรมชาติของเด็กน้อยเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ดี ถ้าจะให้มนุษย์เราเป็นธรรมชาติจริงๆ ก็คงจะแย่มากนะ


ถ้าเราไม่ฝึกเข้าห้องน้ำ สังคมมนุษย์คงจะเหม็นมาก ขึ้นรถยนต์หรือนั่งในที่ทำงานคงจะต้องดูดออกซิเจนตลอด เพราะเราได้ฝืนธรรมชาติอันนี้แหละ เราจึงมีสังคมที่เรียบร้อยได้ อย่าไปอ้างธรรมชาติมาแก้ตัวอย่างนี้เลย


ธรรมชาติที่ดีก็มี ธรรมชาติที่ไม่ดีก็มี ผู้มีปัญญาจะรู้ว่า สิ่งใดควรบำเพ็ญ สิ่งใดควรงดเว้น ความโกรธเป็นกิเลส เป็นอุปสรรคสำคัญต่อชีวิตที่ดีงาม ต้องพยายามระงับไว้ แต่ปะขาวคนนั้นเสียดายธรรมชาติชั่วของเขา ในที่สุดต้องจากวัดไป


ทุกวันนี้ ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยอ้างธรรมชาติ เอาคำนี้มาใช้เพื่อฉีดยาชาห้ามความละอาย “มันเป็นธรรมชาติ อะไรที่เป็นธรรมชาติจะไปอายมันทำไม เก็บกดสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เดี๋ยวจะเป็นโรคประสาท” เขาว่าอย่างนั้น


ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง พอพฤติกรรมมีทฤษฎีรองรับแล้ว มันแก้ไขยากเพราะจิตใจจะแข็งกระด้าง เงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งในการสร้างสัมมาทิฏฐิ จึงอยู่ที่ความอ่อนน้อมถ่อมตน


ต้องเป็นคนว่านอนสอนง่าย อย่าแข็งกระด้าง อย่าถือตัวถือตน เชื่อมั่นในตัวเองเท่าไรก็ให้ถือหลักว่า “เราอาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะผิดก็ได้” เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนควรจะเอาไปใช้ ในชีวิตประจำวัน บริกรรมว่า..เราอาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะผิดก็ได้ จะได้ค่อยละคลาย ความสำคัญตัวลง..

ชยสาโรภิกขุ

Powered by MakeWebEasy.com