Last updated: 4 ก.ค. 2560 | 1476 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่องราวของ "หมอ American คนแรก" ในสยามประเทศ
ภาพเก่า... เล่าตำนาน (7) หมอปลัดเล.. หมอเทวดาที่มาทำงานในสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ องเล็ก
...แพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิต ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามว่า เข้ามาทำงานเป็นแพทย์คนแรกๆ และโดดเด่นที่สุด คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) เป็นชาวอเมริกัน โดยเข้ามาในปลายรัชสมัยในหลวง ร.3
บรัดเลย์ เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2345 ที่เมืองมาเซลลัส (Marcellus) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อตอนอายุ 20 ปี แดน บรัดเลย์ ป่วยหนักและเกิดอาการหูหนวกไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
แดน บรัดเลย์ ใช้เวลาสวดมนต์ภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย เขาทำกิจกรรมทุกอย่าง เพื่ออุทิศตนให้พระคริสต์ ต่อมาราว 2 ปี แดน บรัดเลย์ กลับหายเป็นปกติราวกับปาฏิหาริย์ เขามุมานะสุดชีวิตอ่านหนังสือแล้ว ไปสอบเข้าเรียนแพทย์ เพื่อจะอุทิศชีวิตให้พระคริสต์ แดน บรัดเลย์ จบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย นิวยอร์ก เมื่อเมษายน พ.ศ.2376
หมอบรัดเลย์ แต่งงานและเดินทางพร้อมภรรยาชื่อ Emilie Royce ลงเรือข้ามมหาสมุทรมาขึ้นที่เกาะสิงคโปร์ และต้องพักบนเกาะสิงคโปร์นาน 6 เดือน เนื่องจากมีพายุคลื่นลมแรงเป็นอันตราย และเมื่อมีเรือโดยสาร หมอและภรรยาจึงออกเดินทางจากสิงคโปร์มุ่งหน้ามาสยาม
เคราะห์ร้ายตามมารังควาน เรือลำนั้นโดนโจรสลัดปล้นในทะเลระหว่างทางจนหมอหมดตัว ลูกเรือที่เดินทางมาโดนฆ่าทิ้งทะเล 4 คน หมอบรัดเลย์ เข้ามาถึงบางกอก เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2378 ขอพักอาศัยอยู่กับมิชชันนารีอเมริกันชื่อ จอห์นสัน แถววัดเกาะสัมพันธวงศ์
หมอหนุ่มอเมริกันจัดตั้ง “โอสถศาลา” เพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค แจกหยูกยาสารพัดโดยไม่คิดมูลค่า ขอเพียงคนไข้นำเอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาติดมือกลับไปด้วยก็ชื่นใจแล้ว
หมอบรัดเลย์ ขยันขันแข็ง มีคนไข้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในย่านวัดเกาะ และชุมชนใกล้เคียงเป็นคนไข้หลัก
ชาวสยามออกเสียงเรียกหมอคนนี้ถนัดปากเรียกว่า “หมอปลัดเล”
หมอปลัดเล เป็นแพทย์แผนใหม่ที่ต้องบุกเบิก หมอต้องเร่งสร้างศรัทธาให้ได้ เนื่องจากชาวสยามยังไม่เชื่อใจ เขาขยันตัวเป็นเกลียว ทำงานร่วมกับมิชชันนารีท่ามกลางอุปสรรคมากหลาย
โอสถศาลาของปลัดเล หมอที่หนวดเครายาว คึกคักได้รับการยอมรับว่า กินยาของหมอแล้วหายดีทุกราย อยู่ไปอยู่มาทางราชการสยามเกิดความไม่สบายใจที่ชาวจีนต่างศรัทธาในตัวหมอฝรั่ง ทางการเกรงว่าอาจจะทำให้ชาวจีนเหล่านี้ เกิดกระด้างกระเดื่องเรื่องศาสนาและการปกครอง จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินขับไล่หมอปลัดเลให้ย้ายโอสถศาลาออกจากพื้นที่ข้างวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์)
ปลัดเล จึงต้องย้ายไปเช่าที่ใกล้โบสถ์วัดซางตาครูซ สร้างห้องแถวเล็กๆ เปิดทำการโอสถศาลาอีกครั้งเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ.2378
13 มกราคม พ.ศ.2380 ปลัดเล ได้มีโอกาสแสดงความเป็นแพทย์ ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งในวัดไปจุดพลุในงานฉลอง พลุระเบิดคามือ ทำพระแขนขาด มีคนตาย 8 คน หมอปลัดเล จึงใช้เครื่องมือแพทย์ ตัดแขน เย็บแผล ซึ่งยังไม่มียาสลบ ทำให้ผู้คนทั้งหลายได้ประจักษ์ ผลคือพระภิกษุที่ถูกตัดแล้วยังมีชีวิตได้ต่อไป
ถือเป็นการผ่าตัดด้วยวิชาแพทย์แผนใหม่ครั้งแรกในสยาม
หมอปลัดเล แสดงฝีมืออีกครั้ง โดยผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกขนาดเท่ากำปั้นออกจากหน้าผากของชายชราผู้หนึ่งที่ทนทรมานมานับ 10 ปี การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี คนไข้หายเป็นปกติ มีแผลเป็นเล็กน้อย ชาวสยามชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก
เมื่อชาวสยามไว้เนื้อเชื่อใจ หมอฝรั่งขยายผลโดยผ่าต้อกระจก ฉีดวัคซีน
ปลัดเล ทุ่มเทเรื่องการรักษาคนไข้จนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากชาวสยาม นางเอมิลี ภรรยาที่เรียกกันว่า แหม่ม เข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ เงินทองร่อยหรอ ไม่มีใครสนับสนุน หมอจึงต้องมองหางานเสริมเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว มาซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
ข่าวร้ายที่มาจากอเมริกาตามมาหลอกหลอนโดยแจ้งว่า หน่วยงานด้านกิจการศาสนาในอเมริกา ขอยุติการสนับสนุนภารกิจของมิชชันนารีในสยาม และขอให้ยกทีมเดินทางกลับอเมริกา
คณะมิชชันนารีที่เดินทางกลับอเมริกาได้ทิ้งเครื่องพิมพ์ (แท่นพิมพ์) ภาษาอังกฤษไว้ให้หมอดูต่างหน้าในขณะที่หมอปลัดเล กำลังจะหมดตัว
หมอปลัดเล ทุ่มเทประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นผลสำเร็จ หมอต้องการจะใช้แท่นพิมพ์เอกสารนี้เป็นทุนรับจ้างพิมพ์งานทางราชการสยาม
ประวัติศาสตร์บันทึกว่า หมอปลัดเลคือบิดาแห่งการพิมพ์ของสยาม
เคราะห์กรรมของหมอจากอเมริกายังคงโหมกระหน่ำไม่หยุด
นางเอมิลี บรัดเลย์ ภรรยาคุณหมอที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ราชสำนักสยามมานาน 10 ปีล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัณโรค
หมอบรัดเลย์เคว้งคว้าง ชีวิตแสนระทมที่พายุโหมกระหน่ำถึงขั้นสูญเสียภรรยาสุดที่รัก จึงพาลูก 4 คนที่เกิดในสยามกลับไปอเมริกาเพื่อตั้งหลักชีวิตให้ลูกๆ
3 ปีเศษในอเมริกา หมอบรัดเลย์หาโรงเรียนให้ลูก ดิ้นรนหาเงินทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกันเป็นผลสำเร็จ
คุณหมอบรัดเลย์พบรักใหม่กับ ซาราห์ บลัคลีย์ (Sarah Blachly) บัณฑิตสาวที่จบจากวิทยาลัย โอเบอร์ลิน รัฐโอไฮโอ (Oberlin, Ohio) แต่งงานอีกครั้งแล้วหอบหิ้วกันลงเรือกลับมาสยามประเทศ เพื่อทำงานที่ค้างไว้ในสยามเมื่อ 3 ปีก่อน
กลับมาสยามคราวนี้ หมอปลัดเล ผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ชื่อ แบงคอก รีคอร์ดเดอร์ (Bangkok Recorder) รายปักษ์ เป็นบรรณาธิการเอง เขียนบทความเอง ในหลวง ร.4 ทรงเขียนบทความเชิงสนทนากับหมอผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์นี้
เอกสารต่างๆ ที่หมอปลัดเลรับจ้างพิมพ์ เป็นผลให้ชาวไทยได้ทราบเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะการพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ฉบับแรกของสยามเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ.2401
ซาราห์ บรัดเลย์ ทุ่มเทชีวิตจิตใจกับการสอนภาษาอังกฤษให้กับบุคคลสำคัญในราชสำนัก ส่วนหมอปลัดเลอันเป็นที่รักของคนบางกอก ริเริ่มการปลูกฝีที่ต้องนำเข้าเชื้อหนองจากอเมริกา เพื่อนำมาปลูกฝีรักษาชีวิตชาวสยามในขณะที่ฝีดาษกำลังระบาดฆ่าคนทั้งโลก
ชาวสยามในยุคนั้นไม่มีใครเชื่อเรื่องการปลูกฝีด้วยเชื้อหนอง จนต้องปลูกฝีให้กับชาวต่างชาติในบางกอก และเผยแพร่ในราชสำนักและเมื่อเห็นว่าป้องกันฝีดาษได้จริง ชาวสยามจึงยอมปลูกฝี
ในหลวง ร.3 พอพระทัยยิ่งนัก ทรงพระราชทานเงินรางวัลให้หมอปลัดเล จำนวน 3 ชั่ง (ประมาณ 250 บาท)
หมอปลัดเล ได้มีโอกาสเข้าไปทำคลอดในราชสำนักหลายครั้งจนเป็นที่ไว้วางใจในวิชาการแพทย์แบบตะวันตก หมอพยายามให้ความรู้หมอตำแยที่ทำคลอดแบบดั้งเดิม และร้องขอให้งดการอยู่ไฟหลังคลอดของหญิงชาวสยาม เนื่องจากเป็นความทรมานที่ไม่เกิดประโยชน์
หมอฝรั่งท่านนี้ลงทุนเขียนภาพสอนชาวสยามให้ความรู้เรื่อง มดลูก การปฏิสนธิ การตั้งครรภ์ เรื่องการมีระดู ให้ความรู้กับทุกคนว่าการมีประจำเดือนไม่เกี่ยวกับข้างขึ้น-ข้างแรมหรือเป็นไปตามดวงจันทร์โคจรตามที่ชาวสยามเชื่อมาตลอด ให้ความรู้เรื่องน้ำคาวปลา ฯลฯ และพิมพ์หนังสือชื่อ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา (สะกดแบบดั้งเดิม ที่หมอปลัดเลใช้) เพื่อแก้ปัญหาการเสียชีวิตของทารก และในที่สุดจึงมีการตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม
หมอปลัดเล ไม่เคยหยุดนิ่ง หมอยังไปซื้อต้นฉบับ นิราศลอนดอน จากหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ซึ่งเป็นลูกศิษย์เรียนภาษาอังกฤษกับหมอเป็นเงินถึง 400 บาท แล้วนำมาพิมพ์จำหน่ายให้คนไทยได้อ่าน
นับเป็นการซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือสามก๊ก แบบเรียนจินดามณี หนังสือเรียนที่ไม่เคยมีมาก่อนล้วนเป็นผลงานความริเริ่มของหมอปลัดเล ทั้งสิ้น
6กุมภาพันธ์ พ.ศ.2395 ในหลวง ร.4 พระราชทานที่ดินให้หมอปลัดเล และพวกมิชชันนารี เช่าปลูกบ้านพักและสร้างโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกอกใหญ่) เพื่อตอบแทนคุณความดีทั้งปวง
ในหลวง ร.4 เสด็จไปสนทนาภาษาอังกฤษและเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับคุณหมอและแหม่มซาราห์ที่บ้านหลังนี้บ่อยครั้ง
หมอบรัดเลย์ เสียชีวิตลงเมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ.2416 เมื่ออายุ 69 ปี มีลูกกับนางซาราห์ 5 คน ทุกคนเกิดในสยามประเทศ
นางซาราห์คงพักอาศัยในบ้านดังกล่าวโดยไม่ได้กลับไปอเมริกาเลยตลอดชีวิต เธอเสียชีวิตลงเมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ.2436 ตอนอายุ 75 ปี เธอใช้ชีวิตในสยามยาวนาน 43 ปี ลูกของเธอ 4 คนเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในอเมริกา ส่วนไอรีน (ชาวสยามเรียกว่า แหม่มหลิน) ลูกสาวคนหนึ่งของหมอพักอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปจนเสียชีวิตด้วยโรคชรา และมอบที่ดินดังกล่าวให้กองทัพเรือ
หมอบรัดเลย์ อุทิศชีวิตให้กับการทำงานในสยามประเทศ ช่วยปกปักรักษาชีวิตชาวสยามไว้จำนวนมาก สร้างสิ่งที่ดีงามทั้งปวงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิด ไม่ได้เรียนในประเทศนี้ ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใครในประเทศนี้ เป็นผู้ให้เพื่อต้องการสร้างความดีงามโดยไม่หวังผลตอบแทน
เมื่อสิ้นชีวิตแทบไม่มีอะไรสะสม จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของในหลวง ร.5 ทรงบันทึกว่า “ได้ส่งเงินให้ท่านกาพย์ซื้อของและให้ช่วยในการก่อขุดศพหมอปลัดเลที่เงินยังขาดอยู่ 120 บาท ให้ทำรั้วเหล็กล้อมที่ฝังศพ 200 เหรียญ” (ข้อมูลจาก ส.พลายน้อย )
ที่ฝังศพของหมอฝรั่งใจบุญท่านนี้อยู่ที่ป่าช้าฝรั่งข้างวัดราชสิงขรใกล้ๆเอเชียทีค ที่เดียวกับหมอเฮส์ ที่สร้างรพ.เลิดสิน
หมอบรัดเลย์ สัตบุรุษที่คนไทยควรรู้จักและยกย่องสรรเสริญ
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561