Last updated: 13 มิ.ย. 2560 | 509 จำนวนผู้เข้าชม |
การเตรียมตัวตาย …. กระแสใหม่ในญี่ปุ่น
Shukatsu หรือ การเตรียมตัวตาย คือ การคิดวางแผนว่าหากชีวิตเราต้องจบลง เราจะเตรียมอะไรไว้บ้าง เพื่อไม่สร้างความลำบากให้ลูกหลานหรือคนรอบตัว อาจจะฟังดูเศร้านะคะ แต่อีกด้านหนึ่งของ Shukatsu ยังรวมถึงการวางแผนว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุขได้อย่างไร
เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com
คนญี่ปุ่นมักจะมีคำเรียกกิจกรรมการ “หา” สิ่งต่าง ๆ โดยใช้คำว่า “活 (Katsu)” ซึ่งแปลว่า Activity เช่น กิจกรรมหางาน … Shukatsu (就活) กิจกรรมหาแฟน … Konkatsu (婚活)
ล่าสุดดิฉันได้ยินศัพท์ใหม่จากคุณพ่อคุณแม่ชาวญี่ปุ่นของดิฉันที่มาอยู่เมืองไทย ท่านบอกว่าตอนนี้คนญี่ปุ่นกำลังเริ่มตื่นตัวกับ Shukatsu (終活) …หรือกิจกรรมเตรียมตัวจากโลกนี้ไปนั่นเอง
การเตรียมตัวตาย คืออะไร?
Shukatsu หรือ การเตรียมตัวตาย คือ การคิดวางแผนว่าหากชีวิตเราต้องจบลง เราจะเตรียมอะไรไว้บ้าง เพื่อไม่สร้างความลำบากให้ลูกหลานหรือคนรอบตัว เช่น การเตรียมพินัยกรรม การจดรหัส password ต่าง ๆ การค่อย ๆ จัดเอกสารให้เป็นระเบียบและแยกให้ชัดว่าหลังตัวเองไม่อยู่แล้ว เอกสารอะไรทิ้งได้ อะไรทิ้งไม่ได้บ้าง
อาจจะฟังดูเศร้านะคะ แต่อีกด้านหนึ่งของ Shukatsu ยังรวมถึงการวางแผนว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุขได้อย่างไร เช่น เขียนจดหมายหาคนที่ไม่ได้คุยกันมานาน ผู้สูงอายุบางคนก็สนุกกับการคิดว่างานศพตัวเองจะจัดรูปแบบแบบไหน บางบริษัทหัวใสถึงกับมีบริการให้ลูกค้าลองประสบการณ์งานศพตัวเอง เช่น ให้ลองนอนในโลง
โลงศพญี่ปุ่นไม่น่ากลัวหรือไม่ใช่แค่กล่องแข็ง ๆ แต่เขาจะบุผ้าอย่างดี คนญี่ปุ่นหลายคนที่ผ่านประสบการณ์ลองนอนในโลง (แถมโดนปิดฝาโลง) บอกว่า รู้สึกสงบอย่างบอกไม่ถูก บางคนถึงกับบอกว่าได้เป็นช่วงเวลาที่ตัวเองได้ครุ่นคิดว่า ที่ผ่านมาตัวเองทำอะไรบ้าง และจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร กลายเป็นกิจกรรมฮิตไป
ทำไมถึงเกิดกระแสเตรียมตัวตาย
สังคมญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ กล่าวคือ มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ถ้าท่านเดินในญี่ปุ่น มีคนเดินมา 4 คน จะมีคนหนึ่งที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุเกิน 65 ปี)
เมื่อจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวก็ลดลง ผู้สูงอายุญี่ปุ่นจึงห่วงไม่อยากสร้างความยากลำบากให้ลูกหลานที่ต้องมานั่งสะสางเอกสารทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ตอนที่พวกตนจากโลกนี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ยิ่งเทคโนโลยีการแพทย์พัฒนายืดอายุคนเท่าไร คนก็มีโอกาสต้องต่อสู้กับโรคต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น คนญี่ปุ่นบางคนห่วงว่าถ้าป่วยเป็นอัมพาต พูดอะไรไม่ได้ ลูกหลานจะรับรู้เจตนาตนเองได้อย่างไร ยิ่งถ้าเป็นอัลไซเมอร์อาการหนักขึ้นดูแลตัวเองไม่ได้จะยิ่งลำบากคนอื่น
ยิ่งในระยะหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ คนวัย 30-40 ของญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาคิดเรื่อง Shukatsu กันอย่างจริงจัง เสมือนรู้ว่า อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน
วิธีการเตรียมตัวตาย
มีกิจกรรมหลายด้านและบริษัทญี่ปุ่นก็ออกมาบุกตลาดนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น
– Ending Note: สมุดโน้ตบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยากบอกให้ลูกหลานรู้ หรือบอกเจตนาตนเอง เช่น ถ้าไม่สบายหนัก จะให้ถอดเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติต่าง ๆ หรือประวัติชีวิตตัวเอง
– การเตรียมออกแบบงานศพตัวเองล่วงหน้า: โดยสามารถลองให้บริษัทตีราคาคร่าว ๆ ได้ว่าตนเองอยากจัดแบบไหน เสียเท่าไร จะไปจัดที่ใด ตลอดจนการเตรียมหาฮวงซุ้ย (ที่เก็บเถ้ากระดูก) ไว้ด้วย
– การโอนทรัพย์สิน การทำพินัยกรรม
– การจัดข้าวของให้เป็นหมวดหมู่ เช่น ของชิ้นไหนที่อยากเก็บไว้ให้ลูกหลานคนใด ของชิ้นไหนที่สามารถทิ้งได้หลังจากที่ตนเองไม่อยู่แล้ว หรือข้าวของที่สะสมไว้เป็นงานอดิเรก เช่น กีต้าร์ กล้องถ่ายรูป เมื่อตนเองไม่อยู่แล้ว ก็เขียนคำแนะนำไว้ว่าจะให้ขายที่ไหนจะได้ราคา หรือยกให้ใคร (ในญี่ปุ่นมีบริษัทที่รับดูแลด้านนี้โดยเฉพาะเป็นเรื่องเป็นราวเลย)
การเตรียมตัวตายกับคนญี่ปุ่น
Shukatsu หรือการเตรียมตัวตายในรูปแบบของคนญี่ปุ่นทำให้เราเห็นอะไรได้บ้าง โดยส่วนตัวแล้วดิฉันคิดว่าเทรนด์ดังกล่าวสะท้อนความเป็นคนญี่ปุ่นได้ดียิ่งนัก
1. คนญี่ปุ่นเป็นนักวางแผน
แต่ไหนแต่ไร คนญี่ปุ่นชอบคิดถึงอนาคต วางแผนไว้ (จนกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ออมเงินเก่งที่สุดในโลก ไม่ยอมใช้จ่ายเงิน) เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทั้งจากโรคหรือภัยธรรมชาติ คนญี่ปุ่นก็ยังพยายามวางแผนเพื่อเตรียมการรับมือให้ได้ดีที่สุด
2. คนญี่ปุ่นขี้เกรงใจ ไม่อยากรบกวนคนอื่น
คนญี่ปุ่นมีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ กลัวว่าตนเองจะไปรบกวนคนอื่นหรือเปล่า แม้กระทั่งลูกหลานก็ตาม พวกเขาจึงพยายามใช้ชีวิตที่รบกวนคนอื่นหรือสร้างภาระให้คนอื่นน้อยที่สุด
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เกี่ยวกับเรื่องการเตรียมตัวตาย แต่เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นคิดอยู่ตลอด เช่น ขึ้นบันไดเลื่อนตรงสถานีรถไฟอย่าไรให้ไม่เกะกะคนอื่น จอดรถอย่างไรให้ไม่สร้างความลำบากให้คนอื่น เมื่อใช้ห้องน้ำแล้วจะปิดฝาให้สนิทหรือเช็ดอย่างไร เพื่อให้คนถัดไปมาใช้ได้อย่างสบายใจ
3. คนญี่ปุ่นเป็นนักบันทึก
ในปีค.ศ.2013 จากแบบสอบถามผู้สูงอายุกว่า 3,600 คน ร้อยละ 64.5 ของคนญี่ปุ่นรู้จัก Ending Note หรือบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการจบชีวิตตัวเอง และร้อยละ 50 ปรารถนาหรือกำลังเขียนอยู่
(อ้างอิง: http://shukatsu.nifty.com/about/index01.htm )
บทความนี้อาจทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ … เรามีความสุขแล้วหรือยัง หรือมีสิ่งอะไรที่เราปรารถนาที่จะทำในชีวิตนี้ เราจะดูแลคนรอบตัวอย่างไร
เราดูกระจกเช้าเย็น ทุกครั้งที่เราดูกระจก เราก็รู้สึกเหมือนเราเห็นตัวเอง แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องมองไม่ใช่แค่ด้านหน้า แต่คือด้านหลังของตัวเรา (จิตใจ) ต่างหาก
ซาโต้ ไอโกะ – นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่น
เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561