ดวงชะตา และเหตุการณ์ต่างได้ถูกกำหนดไว้แล้วก็จริง

Last updated: 21 พ.ย. 2559  |  820 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดวงชะตา และเหตุการณ์ต่างได้ถูกกำหนดไว้แล้วก็จริง แต่ผลทีเกิดจากดวงชะตาฟ้าที่กำหนดไว้นั้นจะดีหรือเลวอย่างไร ขึ้นอยู่กับสติ ของแต่ละคนที่ต้องเจอเหตุการณ์เหล่านั้น

Doris Day - Que Sera Sera -

ไม่มีใครรู้หรอกว่าชีวิตเราในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดวันยังค่ำ ถ้า Doris Day มีตาทิพย์มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเพลงที่เธอแทบไม่อยากร้องในตอนแรก เธอคงนึกขำน่าดู เพลงที่พูดถึงนี้ หากเปรียบเป็นอาหารแล้วก็เหมือนเมนูที่ดูไม่น่ากินในสายตาแม่ครัวเอาซะเลย แต่เจ้าของร้านอาหารบอกให้ทำๆไปเถอะ แม่ครัวก็เลยต้องจำใจทำทั้งๆที่สะอิดสะเอียนจะแย่ แต่ปรากฏว่าอาหารจานนั้นเป็นอาหารที่โอชารสแถมอมตะอีกต่างหาก คนกินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มตลอดระยะเวลา 58 ปีนับแต่วันที่อาหารนั้นถูกปรุงขึ้นจนถึงปัจจุบัน ที่มาของเรื่องเป็นอย่างนี้ครับ วันหนึ่งในปี ค.ศ. 1956 ระหว่างที่ Afred Hitchcock ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังมาดเจ้าพ่อกำลังกำกับหนังเรื่อง The Man Who Knew Too Much เขาได้โทรศัพท์หา Jay Livingston และ Ray Evans นักแต่งเพลงคู่หู แล้วเริ่มบทสนทนาสไตล์นักเลงที่คนทั่วไปไม่ค่อยพูดกันเท่าไหร่ว่า "จริงๆแล้ว ผมไม่อยากจะได้เพลงอะไรทั้งนั้น...แต่ตอนนี้ผมกำลังสร้างหนังอยู่เรื่องหนึ่งมี Jimmy Stewart เป็นพระเอกรับบทเป็นนักการทูตประจำยุโรปและมีนางเอกคือ Doris Day ภรรยาที่ต้องดูแลลูกชายเล็กๆคนหนึ่ง คุณสองคนช่วยแต่งเพลงที่ Doris Day จะร้องให้ลูกชายฟังซักเพลงเถอะ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าเพลงมันควรจะเป็นแนวไหน..." Jay Livingston กับ Ray Evans รีบรับปากทันทีว่าจะจัดการให้ ซึ่งภายหลัง Jay Livingston สารภาพว่าอันที่จริงเขากับ Ray Evans เพิ่งเขียนเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) เสร็จไปพอดิบพอดีประมาณสองอาทิตย์ก่อนที่ Alfred Hitchcock จะโทรมา แต่ทั้งสองคนแกล้งปล่อยเวลาให้ผ่านไปอีกสองอาทิตย์เพื่อให้ดูเหมือนว่าใช้เวลาทุ่มเทแต่งเพลงกันอย่างสุดๆ พอได้เวลาจึงเล่นให้ Alfred Hitchcock ฟัง หลังจากฟังแล้ว Alfred Hitchcock บอกว่า "ผมเคยบอกพวกคุณใช่ไหมว่าผมไม่รู้ว่าผมต้องการเพลงแนวไหน แต่ไอ้เจ้าเพลงที่คุณเล่นนี่มันโดนจริงๆเลยว่ะ..." ปัญหาต่อไปคือพอนำเพลงนี้ไปเสนอให้ Doris Day ปรากฏว่านางเอกของเราไม่ยอมร้อง บอกว่าเพลงอะไรก็ไม่รู้ "...อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด..." (whatever will be, will be) สุดแสนจะไม่เข้าท่า แต่ Marty Melcher สามีของเธอบอกว่าร้องไปเถอะ รับรองว่าเพลงนี้ต้องดังแน่ ประกอบกับทางโรงถ่ายก็ทั้งปลอบทั้งขู่ให้เธอร้อง สุดท้าย Doris Day ทนแรงกดดันไม่ไหว จึงยอมร้องเพลงนี้ โดยบันทึกเสียงแค่เทคเดียวเท่านั้น พร้อมกับบอกว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่พวกคุณจะได้ยินฉันร้องเพลงนี้ แต่ผลปรากฎว่า Doris Day ไม่ได้ร้องเพลงนี้ครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายหรอกครับ เธอร้องต่อมาอีกไม่รู้กี่ร้อยครั้ง เพราะหลังจากภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Too Much ออกฉายแล้ว ผู้คนต่างชื่นชอบเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) กันมาก จนเพลงนี้ขึ้นถึงอันดับที่สองนานถึงสามสัปดาห์ และเพลงนี้ยังได้รับรางวัล Oscar ในฐานะเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี ค.ศ.1956 นอกจากนี้ Doris Day ได้ใช้เพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) เป็นเพลงรายการโทรทัศน์ของเธอนานถึง 6 ปี เพลงที่เธอไม่เคยนึกชอบเลยในตอนแรกกลับกลายเป็นเพลงประจำตัวเธอตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เธอบอกว่า ตอนนี้เธอเชื่อแล้วว่าวิถีชีวิตของเราทุกคนถูกโชคชะตากำหนดมาแล้วตั้งแต่เกิด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าอะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดนั่นเอง "...I strongly believe in the inevitability of everyone's life pattern. Our destinies are born with us..." เดิมเพลงนี้ มีชื่อเป็นภาษาอิตาเลียนว่า Che Sera, Sera แต่ Jay Livingston กับ Ray Evans เห็นว่าภาษาสเปนน่าจะเป็นภาษาที่ทั่วโลกนิยมใช้มากกว่าเลยเปลี่ยนเป็น Que Sera, Sera ซึ่งมีความหมายเดียวกันว่า What will be, will be แต่เนื่องจากมีกฎว่าเพลงที่เข้าชิงรางวัล Oscar นั้นจะต้องมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เพลง Que Sera, Sera จริงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Whatever Will Be, Will Be แต่ก็วงเล็บ Que Sera, Sera ต่อท้ายด้วย สรุปแล้ว แม้ว่าเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) เกือบจะไม่ได้เกิดเพราะคนร้องไม่ยอมร้อง แต่เพลงนี้ก็หนีโชคชะตาตัวเองไม่พ้นเช่นกัน นั่นคือโชคชะตาที่จะได้โด่งดังเป็นพลุแตกไงครับ เห็นไหมล่ะ Whatever will be, will be จริงๆด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=xZbKHDPPrrc&feature=youtu.be

Powered by MakeWebEasy.com